36,000 คน คือจำนวนตัวเลขของผู้ป่วยชาวอังกฤษในแต่ละปี ที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสภาพอากาศของเมืองผู้ดีมีแนวโน้มของคุณภาพลดลงเรื่อยๆ จากการเพิ่มขึ้นของเขตอุตสาหกรรม และจำนวนการใช้รถที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งรัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชนของอังกฤษ จึงพยายามเฟ้นหาหนทางในการพัฒนาคุณภาพอากาศกันแบบสู้ตาย ล่าสุดกับโปรเจ็กต์ ‘Moss Filters’ ที่ผสมแนวคิดเชิงสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมศาสตร์ และนวัตกรรมเข้าด้วยกัน กระทั่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
เริ่มจากงานศึกษาซึ่งระบุว่า มอสนั้นคือพืชกลุ่มไบรโอไฟต์ ซึ่งมีจุดเด่นตรงเป็นพืชไร้ราก และมีผิวสัมผัสกับอากาศมาก ทั้งยังสามารถเก็บกักความชื้นได้ดี คุณสมบัติดังกล่าวส่งผลให้มอสสามารถดูดซับฝุ่นและมลพิษทางอากาศ อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิของสภาพอากาศโดยรอบได้ด้วย…
เมื่อรู้อย่างนี้ ทางการอังกฤษจึงออกแบบเครื่องกรองอากาศธรรมชาติโดยมีมอสเป็นแผ่นกรองหลัก จนได้ออกมาเป็นตู้ไม้ขนาดใหญ่ที่มีมอสอยู่ด้านใน ก่อนนำไปวางตั้งอยู่ทุกมุมเมือง เพื่อดูดซับมลพิษ และให้ความชุ่มชื่นกับเมืองโดยไม่ต้องใช้พลังงาน
มากกว่านั้น ยังสามารถนำมอสที่ทำหน้าที่เป็นแผ่นกรองออกมาตรวจวัดคุณภาพของอากาศได้ด้วย และมากไปกว่านั้นอีกก็คือ ตู้มอสที่ปรากฏอยู่ทั่วเมือง ยังช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงคุณภาพอากาศ ที่กำลังต้องได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหา คล้ายเป็นสัญญะที่วางตั้งให้ชาวอังกฤษเห็นกับตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
โดยผลวิจัยระบุว่า เครื่องกรองมอส 1 เครื่องนั้น มีคุณสมบัติในการดูดซับมลพิษเท่ากับต้นไม้ 28 ต้นทีเดียว
ปัจจุบัน เครื่องกรองธรรมชาติเหล่านี้ ได้ทำหน้าที่ของมันอยู่ทั่วเมือง Hereford และ London เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มจะขยายไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ โดยเฉพาะเมืองที่มีอัตราความหนาแน่นของการจราจรในเร็ววันนี้