ครั้งนี้ขอสะกิดสาวกอาหารปิ้งย่างให้หันมาฟังกันสักนิด ว่าคุณรู้ไหม? น้ำมันจากเนื้อสัตว์หรือซอสที่หมักบนชิ้นเนื้อ เมื่อหยดลงบนเตาปิ้งย่างแบบใช้ถ่าน กลายเป็นต้นตอหนึ่งที่ก่อให้เกิด PM 2.5 และมลพิษทางอากาศในครัวเรือนขึ้นได้
และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ถ่านต่างชนิดกัน ที่ให้ความร้อนแตกต่างกัน ยังส่งผลต่อปริมาณการเกิดของสารพิษต่างๆ ที่ต่างกันไปด้วย
ข้อมูลนี้มาจากรายงานผลการวิจัยที่น่าสนใจมาก เกี่ยวกับการหาอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัจจัยที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนมลพิษทางอากาศอื่นๆ จากร้านอาหารปิ้งย่างที่ใช้ ‘เชื้อเพลิงแข็ง’ หรือแปลง่ายๆ ก็คือ ถ่าน หรือฟืน ที่ใช้หุงต้มอาหารนั่นเอง (ในงานวิจัยพุ่งประเด็นไปที่ถ่าน) ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาวิจัยเชิงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3 แห่งในประเทศไต้หวัน และอีก 1 แห่งจากประเทศอินโดนีเซีย
เนื้อหาในงานวิจัยอ้างอิงไปถึงรายงานจาก WHO ในปี 2559 ที่ระบุว่า มีคนถึง 2.6 ล้านคน ซึ่งได้รับความเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศในอาคาร อันเนื่องมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงแข็งในครัวเรือนเพื่อปรุงอาหาร พวกเขาจึงเริ่มหาความเชื่อมโยงของต้นตอมลพิษ ตั้งแต่อาหารที่ปรุง รวมไปถึงเชื้อเพลิงแข็งชนิดที่ใช้ ว่าสัมพันธ์กันอย่างไร
ก่อนจะได้คำตอบว่า น้ำมันที่หยดจากเนื้อหมู และซอสบาร์บีคิวที่ใช้หมักหมู (ส่วนผสมซอสที่ระบุในงานวิจัยคือ น้ำส้มสายชู กระเทียม น้ำตาล เกลือ น้ำ น้ำมันงา ไวน์ข้าว น้ำพริกเผา น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง) เมื่อหยดลงไปสัมผัสกับถ่านขณะปิ้งย่างและเกิดการเผาไหม้ จะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิด CO, CO2, PM 2.5 รวมถึงสารพิษที่ก่อมลพิษทางอากาศอีกหลายชนิด อาทิ ฟอร์มาลดีไฮด์ อะซีตัลดีไฮด์ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะก่อมลพิษทางอากาศแล้ว สารเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะระเหยขึ้นไปจับที่ชิ้นอาหารปิ้งย่าง และเมื่อเรานำมากิน ก็ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้
ทั้งนี้งานวิจัยระบุว่า ซอสบาร์บีคิวมีข้อดีอยู่ประการหนึ่ง คือมีน้ำเปล่าเป็นส่วนผสม เมื่อหยดลงบนถ่านขณะเผาไหม้ น้ำจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO และ CO2 ลงได้บ้าง แต่ไม่ส่งผลต่อสารอื่นที่เกิดขึ้นขณะเผาไหม้
งานวิจัยยังเจาะลึกไปถึงชนิดถ่านที่ต่างกัน ซึ่งนิยมใช้ในร้านปิ้งย่าง และมีระดับการให้ความร้อนที่แตกต่างกัน ว่าส่งผลอย่างไรต่อการเกิดมลพิษทางอากาศ โดยเลือกใช้ถ่านสามชนิดมาวิจัยร่วมกัน ได้แก่ ถ่านอัดแท่ง ถ่านไม้ลำไย และถ่านบินโจตัน ซึ่งพบว่า ยิ่งระดับการเผาไหม้ของถ่านให้พลังงานสูงมากเพียงใด ก็ยิ่งก่อให้เกิดการออกซิเดชันมากขึ้นเท่านั้น เมื่อน้ำมันหมูหรือซอสหยดลงไปสัมผัส
เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างถ่านสามชนิดที่กล่าวมา จึงพบว่าถ่านที่เกิดมลพิษน้อยที่สุดหากเกิดการสัมผัสของหยดน้ำมัน หรือซอสบาร์บีคิว ก็คือถ่านอัดแท่งนั่นเอง
ดังนั้นวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษดังกล่าว งานวิจัยระบุว่า ควรหาวิธีป้องกันไม่ให้น้ำมันจากการปิ้งย่างหมู หรือซอสบาร์บีคิว หยดลงสัมผัสกับถ่านโดยตรง
นับว่าเป็นงานวิจัยที่เราคาดไม่ถึงจริงๆ ว่าเพียงเรื่องใกล้ตัวเราจากการปรุงอาหารประเภทปิ้งย่าง จะกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ถึงตรงนี้นักกินสายปิ้งย่างที่รักโลกด้วย คงเริ่มมองหาถ่านอัดแท่งกันอยู่เป็นแน่ และถ้าจะให้ดี ถ่านอัดแท่งที่เลือกใช้ควรมาจากวัสดุธรรมชาติ และมีกระบวนการผลิตที่ไว้ใจได้ ซึ่งผู้เขียนก็ได้ไปสืบเสาะหามาฝากคุณกัน นั่นคือ ถ่านอัดแท่งปลอดภัย ของศูนย์เรียนรู้และสาธิตการผลิตเชื้อเพลิง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยถ่านอัดแท่งดังกล่าวมีกรรมวิธีผลิตแบบปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้ และที่น่าสนใจมากๆ คือ ทำจากเศษวัสดุธรรมชาติเหลือใช้ที่เคยก่อให้เกิดปัญหาด้านขยะ เช่น กระบอกข้าวหลามจากไม้ไผ่ที่ ตำบลหนองมน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี กะลามะพร้าวจากอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม หรือเหง้ามันสำปะหลัง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มาผสานองค์ความรู้ด้านการผลิตถ่านอัด ที่จะผ่านการเผาด้วยเตาเผาถ่านไร้ควัน ซึ่งไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อขึ้นรูปเป็นถ่านอัดแท่งแล้วก็จะนำไปตากในโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แห้ง ไม่ใช้เชื้อเพลิงเพื่อการประหยัดพลังงานและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยจัดตั้งโรงผลิตขึ้นในสามอำเภอดังกล่าว และผ่านการควบคุมดูแลโดยนักวิชาการและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ จากศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จึงได้ถ่านอัดแท่งที่มีคุณภาพสูง ให้ความร้อนดี มีควันน้อย มีเถ้าน้อย ทุกขั้นตอนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หากท่านใดสนใจสั่งซื้อถ่านอัดแท่งปลอดภัยจาก ตำบลหนองมน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ภายใต้การดูแลของศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดต่อได้ที่ คุณต่าย โทรศัพท์ 081-629-8605
ที่มาข้อมูล:
รายงานผลการวิจัย “Effects of Oil Drops and the Charcoal’s Proximate Composition on the Air Pollution Emitted from Charcoal Barbecues” aaqr.org/articles/aaqr-19-01-oa-0042
ขอบคุณ:
ศ.ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ หัวหน้าศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เอื้อเฟื้อข้อมูลบางส่วน