เพราะปัญหามลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นโจทย์ที่โลกต้องร่วมกันแก้ จะเห็นได้ว่าในหลายๆ ประเทศก็ได้ออกนโยบายต่างๆ มารองรับ ทั้งเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและรับมือกันด้วยแผนระยะยาว ซึ่งหากจะรอการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างและนโยบายก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา สิ่งที่ต้องคิดและทำร่วมกันได้แบบคู่ขนานกันไป ก็คือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่ไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บางเรื่องก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดนัก
เราเคยนำเสนอเรื่องธุรกิจสีเขียว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางออกในการลดมลพิษและผลกระทบของภาวะโลกร้อนกันไปแล้ว และแน่นอนว่าปัจจัยเรื่องทุนก็เป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจ หรือกระทั่งผู้บริโภคที่อยากจะปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์มาช่วยโลกก็ยังต้องขบคิดกันอยู่ อุ่นใจได้แล้วว่าเราไม่ได้ขบคิดเรื่องนี้อยู่ลำพัง เพราะสถาบันการเงินก็ได้วางแนวทางเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างไม่ติดขัดด้วยเหมือนกัน
เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องมาจากการประชุมในเวทีโลกอย่าง COP 26 ที่นำมาสู่กลยุทธ์การลดการปล่อยคาร์บอน เมื่อหลายองค์กรระดับโลกตั้งเป้าไว้ว่าปี 2050 จะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero รวมไปถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่มากกว่า 450 แห่งทั่วโลกที่ได้ปล่อยนโยบาย Green Finance ออกมา เพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้กับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ
ประเทศแรกๆ ที่นำโครงการเงินกู้สีเขียวมาใช้ คือธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารจีน ด้วยหวังว่าโครงการนี้จะจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยหนึ่งในแผนนั้นคือให้เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษในระยะยาว
แต่อย่าเพิ่งใจเสียว่าประเทศอื่นมีแล้ว ประเทศไทยมีหรือยัง? เพราะตอนนี้หลายสถาบันการเงินของไทยก็ได้มีนโยบายสินเชื่อสีเขียว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้บริโภค ที่อยากจะเปลี่ยนวิถีของตัวเองมาสู่การเป็นพลเมืองคาร์บอนต่ำด้วยเช่นกัน ด้วยโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อรถยนต์ไฟฟ้าจากหลายธนาคาร ที่หนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแก่ผู้บริโภคโดยตรง เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย ทีเอ็มบีธนชาติ ไทยพานิชย์ สินเชื่อบ้านหรือธุรกิจเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่จะช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบเดิม
ในขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่ง ก็ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวที่ครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ไม่ว่าจะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีผลิตภัณฑ์และบริการรองรับอยู่ อุตสาหกรรมที่คำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม หรือในภาคเกษตรกรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย การผลิตที่ใช้พลังงานทางเลือก ไปจนถึงภาคการท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือการท่องเที่ยงเชิงนิเวศ ของ ธ.ก.ส.
หรือหากไม่อยู่ในสถานะของผู้ประกอบการและผู้บริโภค พลเมืองคาร์บอนต่ำก็มีทางเลือกผ่านการลงทุน ที่หลายสถาบันการเงินก็ได้นำเสนอออกมา ทั้งในรูปแบบตราสารหนี้ กองทุนรวมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและมีส่วนร่วมในการช่วยลดคาร์บอนและมลพิษได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และเปลี่ยนความคิดที่ว่าการลดมลพิษเป็นเรื่องที่เริ่มต้นจากตัวเองไม่ได้ ให้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้