นวัตกรรมการตรวจจับมลพิษนั้นพัฒนาและมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่และเมืองอุตสาหกรรมทั่วโลกที่ล้วนให้ความสำคัญกับการติดตั้งเครื่องตรวจจับมลพิษทางอากาศอย่างจริงจังมานับสิบปี ทั้งเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการพัฒนาคุณภาพอากาศ และเพื่อแจ้งเตือนประชากรให้อยู่ห่างจากอันตรายที่ฟุ้งกระจายอยู่รอบตัวกันแบบเรียลไทม์
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เครื่องตรวจวัดคุณภาพมลพิษทางอากาศเองก็มีช่องโหว่ให้แก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการใช้พลังงานเพื่อเดินเครื่องตรวจรับมลพิษตลอดทั้งวัน ที่อาจปล่อยมลพิษในอีกทางเช่นกัน
ข้อกังวลดังกล่าวคือคำถามตั้งต้นที่ทำให้ทีมนักวิจัยจาก Graphene Flagship เครือข่ายความร่วมมือเชิงนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์จากสหภาพยุโรป คิดค้นเครื่องตรวจจับมลพิษ Graphene Breeze ขึ้นในที่สุด
Graphene Breeze เกิดขึ้นด้วยเป้าหมายสำคัญสองข้อ คือเป็นเครื่องตรวจจับมลพิษทางอากาศที่ทำงานรวดเร็ว ประเมินผลแม่นยำ และประมวลข้อมูลส่งตรงไปยังเครื่องมือสื่อสารของประชากรได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงสะสมข้อมูลทั้งปริมาณสารพิษและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อใช้ในการพัฒนาเครื่องมือจัดการกับมลพิษในอนาคต
และเป้าหมายอีกข้อ คือสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงลดการใช้พลังงานแต่ยังคงประสิทธิภาพการตรวจรับมลพิษดังเดิม
เป้าหมายสองข้อดังกล่าว เป็นไปได้ด้วยการนำเทคโนโลยี Photocatalyst เข้ามาประยุกต์ใช้กับการตรวจจับคุณภาพอากาศ กล่าวคือ เทคโนโลยีดังกล่าวทำงานโดยการดึงพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ขับเคลื่อนการทำงานของระบบตรวจจับมลพิษ และขณะเดียวกันก็จะเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ดูดซับสารพิษในอากาศ อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ เรียกว่าทั้งตรวจสอบและแก้ปัญหาอย่างครบวงจร
และเพราะเช่นนั้น Graphene Breeze จึงเป็นเครื่องมือที่มีโอกาสในการพัฒนาสูงมาก เนื่องจากไม่ต้องอาศัยทรัพยากรและพลังงานในการขับเคลื่อนสูง การติดตั้งเครื่องตรวจจับบนดาดฟ้า หรือกระจายตามท้องถนน จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าการใช้เครื่องตรวจจับมลพิษ ที่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่แบบเดิม
ที่มาข้อมูล:
1. graphene-flagship.eu/graphene/news/smog-eating-graphene-composite-reduces-atmospheric-pollution/?utm_source=PR&utm_medium=Stone+Junction&utm_campaign=TGF263
2. graphene-flagship.eu/graphene/news/graphene-breeze-new-technologies-to-fight-air-pollution