เรื่องราวของอากาศไม่ดี ส่งผลกระทบกับสุขภาพของเรายังไงบ้าง เป็นเรื่องที่เราได้ฟังได้อ่านกันค่อนข้างบ่อยอยู่แล้ว แต่ในมุมที่บอกว่าอากาศดี จะยิ่งดีกับเรายังไง กลับมักไม่ค่อยได้รับการพูดถึง เพราะเรื่องดีมักไม่เร้าใจเท่าเรื่องร้ายที่กระตุกให้ใจเต้นแรงกว่า
แต่ยังไงก็ขอขมวดรวมไว้ด้วยกันตรงนี้อีกทีว่า มลพิษในอากาศซึ่งเหมือนจะเป็นสิ่งที่เราเริ่มชิน และคิดว่าหาทางประนีประนอมกันได้ไปแล้ว หากแต่พิษภัยในอากาศกลับไม่ได้มีผลแค่ทำให้อากาศขมุกขมัว หายใจไม่สะดวก แต่ส่งผลสะสมร้ายแรงต่อร่างกายอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างข้อมูลจาก WHO ก็ระบุว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 6.5 ล้านรายต่อปีทั่วโลก
มลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพราะมลพิษไม่ได้มาจากโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เรามีโอกาสได้รับมลพิษทางอากาศไปเต็มๆ ตั้งแต่ตอนเช้าที่ต้องไปผจญการเดินทางบนท้องถนน เจอเขม่าควันเสียจากรถยนต์ เจอควันจากคนสูบบุหรี่ แต่แม้ว่าจะนั่งทำงานในห้องปรับอากาศ มลพิษทางอากาศก็มาในรูปแบบของเชื้อราหรือฝุ่นในพรม หมอน โซฟาได้ และยังมีควันจากประกอบอาหารในครัว เผาขยะ หรือแม้กระทั่งการจุดเทียน การใช้สเปรย์ปรับอากาศแบบกลิ่นสังเคราะห์ ก็ถือเป็นการสร้างมลพิษในอากาศเช่นกัน
วายร้ายในอากาศมีอยู่หลายราย แต่ที่คุ้นหูกันที่สุดน่าจะเป็นฝุ่น PM2.5 โอโซน ไนโตรเจนออกไซด์ และซัลเฟอร์ออกไซด์ แม้ดูจะเป็นเพียงฝุ่นเล็กฝุ่นน้อยในอากาศ แต่วายร้ายเหล่านี้จะทำให้เราหายใจได้ไม่ลึก ไอ แน่นหน้าอก และเหนื่อยง่าย ยิ่งไปกว่านั้น หากได้รับและสะสมอย่างต่อเนื่อง มลพิษเหล่านี้จะเข้าไปรบกวนระบบทางเดินหายใจโดยตรง ส่งผลต่อโรคทางปอดและหัวใจ เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมปอดโป่งพอง หลอดเลือดสมองอุดตัน รวมถึงมะเร็งปอด โดยกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี 2021 WHO จึงออกมาปรับตัวเลขคุณภาพอากาศที่เหมาะควรต่อการใช้ชีวิต และไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ เพื่อให้แต่ละประเทศนำไปออกแบบนโยบายพัฒนาคุณภาพอากาศให้สอดรับกัน ยกตัวอย่างเช่น ปรับค่า PM2.5 ที่แต่เดิมมีค่าความเหมาะควรอยู่ที่ 10 ไมโครกรัม ก็ลดฮวบลงมาอยู่ที่ 5 ไมโครกรัม ส่วนค่าเฉลี่ย PM2.5 ของไทยนั้น แม้จะปรับลงมาแล้วก็ยังสูงกว่าที่ WHO กำหนดถึง 3 เท่า นั่นคือ 15 ไมโครกรัม แต่อย่างน้อยๆ นั่นก็ยังเป็นความหวังให้เราได้เห็นมาตรการที่สอดรับกับข้อกำหนดนี้ออกมา เพื่อลดความร้ายของฝุ่นควันลงไป และส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของเรากว่าเดิม
มาดูกันดีกว่า คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายยังไงบ้าง
1. สมอง สมองของเราต้องใช้ออกซิเจนถึง 20% ในการทำงาน อากาศที่สะอาดจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง มีสมาธิ และทำหน้าที่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
2. เซโรโทนิน เซโรโทนินซึ่งเป็นสารเคมีในร่างกายที่เชื่อมโยงกับความสุขและอารมณ์ดีก็ต้องพึ่งพาอากาศสะอาดเช่นกัน นี่เลยเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงรู้สึกผ่อนคลาย กระปรี้กระเปร่าเสมอเมื่อได้ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์
3. ปอด การได้สูดอากาศ ก็เหมือนเราได้ทำความสะอาดร่างกายจากภายใน เพราะเมื่อได้ออกไปเดินหรือวิ่ง ปอดของเราจะหายใจได้ลึกขึ้น ทำให้มีอากาศกักเก็บไว้ในปอดมากขึ้น ส่งผลให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น และขจัดของเสียออกไปได้มากขึ้นด้วย
4. ระบบย่อย ร่างกายของเราต้องใช้ออกซิเจนช่วยในการย่อยอาหาร ยิ่งได้ออกซิเจนมาก ก็ยิ่งย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังมีส่วนช่วยสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักด้วย
5. อัตราการเต้นของหัวใจ การออกไปผจญมลพิษหรือฝุ่นควันบนท้องถนน จะทำให้หัวใจเราต้องเต้นถี่กว่าเดิม เพื่อพยายามสูดหาออกซิเจนเข้าปอด เมื่อหัวใจต้องทำหน้าที่นี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือเกิดสภาวะหัวใจล้มเหลว อากาศสะอาดจึงเป็นมิตรต่อหัวใจมากกว่า
6. ระบบภูมิคุ้มกัน ยิ่งได้รับอากาศบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายรับมือกับแบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆ ได้ดีมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากโรคที่ติดต่อผ่านทางอากาศ เพราะแบคทีเรียและไวรัสมักจะเติบโตในอากาศอับชื้น อุดมฝุ่น และเต็มไปด้วยมลพิษมากกว่า
7. การนอนหลับ การหายใจที่เหมาะสม จะทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น เพราะเราจะหลับได้เร็วขึ้น หลับลึกขึ้น มีโอกาสน้อยที่จะตื่นตอนกลางคืน ทำให้ตื่นมาอย่างสดชื่น แต่การหายใจที่เหมาะสมที่ว่านั้นมาจากห้องนอนที่มีอากาศบริสุทธิ์ไหลผ่าน ซึ่งการศึกษาในปี 2015 ที่เผยแพร่ใน National Library of Medicine บอกว่า การนอนโดยเปิดหน้าต่างหรือเปิดพัดลม จะส่งผลให้อากาศไหลเวียนดีกว่า แต่การจะทำแบบนั้นได้นั่นหมายความว่า อากาศภายนอกต้องบริสุทธิ์มากพอ
เพราะออกซิเจนคือมิตรแท้ของมนุษย์อย่างเรา การได้สูดอากาศสะอาดเต็มปอดจะช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลดีต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน และทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า จิตใจแจ่มใสด้วย
ที่มาข้อมูล:
1. www.euro.who.int/__data/assets/pdf_file/0019/341137/Fact-Sheet-10-Better-air-for-better-health.pdf?fbclid=IwAR3hNcYqB4j1j05Ee08obsjqwYTK011lx0KSvqFMkcIiZutrYoC3cfEACfI
2. www.health.harvard.edu/staying-healthy/easy-ways-you-can-improve-indoor-air-quality
3. www.eanet.asia/wp-content/uploads/2020/04/12-Thailand_Factsheet_compressed.pdf
4. www.eea.europa.eu/signals/signals-2020/articles/improving-air-quality-improves-people2019s
5. www.c40knowledgehub.org/s/article/Why-clean-air-is-vital-for-your-city-s-health-and-prosperity?language=en_US
6. www.sleep.com/sleep-health/fresh-air-benefits