เพื่อมุ่งแก้ปัญหามลพิษและฝุ่น PM2.5 ในเมืองอย่างยั่งยืน กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ผู้ดำเนินโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพื่อสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าโครงการรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ นำรถยนต์ดีเซลที่เป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 มาทำการดัดแปลงเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ในการนี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ได้ให้การสนับสนุนชุดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สำหรับการดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จากนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ‘อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)’ จำนวน 1 ลูก โดยแบตเตอรี่ดังกล่าวเป็นแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 30 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และเป็นอุปกรณ์หลักในการจัดทำรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่มีมูลค่าสูง
ทั้งนี้ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการส่งมอบชุดแบตเตอรี่ โดยมีนางสาวอำภา นรนาถตระกูล ผู้อำนวยการสำนักการคลัง เป็นตัวแทนผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ร่วมรับมอบ ณ ห้องเอราวัณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566
“ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมาต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ประเทศไทยเริ่มมองเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าเป็นเรื่องไม่ไกลเกินไป แต่ปัญหาหนึ่งของผู้ใช้รถที่ยังไม่พร้อมมีรถไฟฟ้าเป็นเพราะยังมีรถคันเดิมอยู่ การดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถไฟฟ้าจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
“และเป็นเรื่องดีที่หลายส่วนของภาครัฐได้ช่วยกันผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นจริง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีความห่วงใยในเรื่องนี้ และช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยตอบโจทย์เรื่องการลดฝุ่น PM2.5 และไอร้อน ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องขอขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้มีส่วนร่วมในโครงการดีๆ นี้” นายอมรกล่าว
โครงการรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ เป็นหนึ่งใน 7 กิจกรรมที่พร้อมขับเคลื่อนโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพื่อสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ด้วยแผนงานการนำรถยนต์ดีเซลมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อทำการศึกษาประโยชน์จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต้นทุนการดำเนินการ ความคุ้มค่า ความปลอดภัยในการใช้งาน และความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนรถยนต์ราชการของกรุงเทพมหานครเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
โดยการดัดแปลงนั้น กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง จะเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งคาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2566
ดร.สุมิท เเช่มประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวว่า โครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพื่อสุขภาวะคนเมือง (หลวง) และกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่สอดคล้องกันหลายเรื่องในการที่จะแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และหนึ่งในนั้นคือกิจกรรมดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
“จากข้อมูลทางวิชาการ รถที่สร้าง PM2.5 เป็นรถสันดาปที่มีอายุการใช้งานสิบปีขึ้นไป ซึ่งกรุงเทพมหานครเองมีรถเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก การดัดแปลงรถโดยการเริ่มต้นของกรุงเทพมหานคร จะเป็นต้นแบบให้เกิดองค์ความรู้เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อให้กับบุคลากรของกรุงเทพมหานคร ครู หรือผู้สนใจ ซึ่งยังไม่มีความพร้อมที่จะซื้อรถใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การดัดแปลงนี้จึงเป็นทางเลือก และได้มีส่วนในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”
หลังจากดัดแปลงและทดสอบจนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรุงเทพมหานครจะจัดทำคู่มือและชุดความรู้เกี่ยวกับการดัดแปลง การใช้งาน และการบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงจัดทำหลักสูตรการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าเพื่ออบรมให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไปผ่านโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครต่อไป