โครงการรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ (EV Conversion) เป็นหนึ่งในแผนงานที่มุ่งแก้ปัญหามลพิษและฝุ่น PM2.5 ในเมืองอย่างยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามโครงการสานพลัง ขับเคลื่อน เคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง)
โดยการนำรถยนต์ดีเซลที่เป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มาทำการดัดแปลงเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบจำนวน 1 คันเป็นการตั้งต้น เพื่อศึกษาประโยชน์จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต้นทุนการดำเนินการ ความคุ้มค่า ความปลอดภัยในการใช้งาน และความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนรถยนต์ราชการของกรุงเทพมหานครเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
ภูวดล เขียวศรี วิศวกรเครื่องกล กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งรับหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้ ได้เล่าถึงที่มาของโครงการให้ฟังว่า กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่มีรถเครื่องยนต์ดีเซลใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งปล่อยมลพิษ อาทิ รถบรรทุกขนาด 1 ตัน รถกระบะ รถตู้โดยสาร รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกเทท้าย รถบรรทุกติดเครน ซึ่งหากรวมทั้ง 50 เขตแล้ว มีรถเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ประมาณ 4,000 คัน
และด้วยแผนงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนประชากรรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า (Ecosystem) ให้เกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าตามท้องถนนของประเทศให้ได้ 1 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568 กรุงเทพมหานครจึงสร้างพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้า
“ผลพลอยได้ที่สำคัญคือจะช่วยลดฝุ่น PM2.5 ให้กับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าก่อ PM2.5 เท่ากับศูนย์ แต่การที่กรุงเทพมหานครจะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์เลยยังไม่อาจทำได้ เพราะรถประเภทนี้ยังไม่มีจำหน่ายในตลาด และดูจากแนวโน้มแล้วต้องใช้เวลาอีก 5-7 ปี จึงจะมีจำหน่าย ฉะนั้นในช่วงที่จะเปลี่ยนผ่านจากวันนี้ไปถึง 7 ปีข้างหน้า เราจึงนำรถเก่าที่ใช้อยู่มาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
“โดยการนำรถยนต์สันดาปที่กรุงเทพมหานครใช้งานอยู่มาดัดแปลง ซึ่งเป็นรถที่มีอายุการใช้งาน 7-10 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เครื่องยนต์จะถึงกำหนดอายุการใช้งาน และต้องมีการซ่อมแซมความเสียหาย แต่ด้วยราคาค่าซ่อมที่แพงและไม่สามารถซ่อมให้ใช้งานได้ดีเหมือนทั้งยังปล่อยมลพิษอยู่ เราจึงจะเลือกรถคันที่เครื่องยนต์ไม่คุ้มค่าที่จะซ่อม แต่ตัวถังยังมีสภาพดี ส่วนรถยนต์ที่อายุใช้งาน 2-3 ปี จะยังใช้เครื่องยนต์เดิมไปก่อน”
ในการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นแบบ กรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 30 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จำนวน 1 ลูก จาก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำให้สามารถเดินหน้าโครงการได้เร็วขึ้น
“แบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนหลักของงานดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมีมูลค่าเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ที่เราได้รับมาหากเป็นราคาขายจะประมาณ 4 แสนบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการทดสอบเพื่อหาความคุ้มค่า ทั้งอัตราค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตร ความปลอดภัย ประสิทธิภาพการใช้งาน
“ก่อนจะขยายผลไปสู่การดัดแปลงรถยนต์คันอื่นซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 500 คัน จาก 4,000 คันของรถที่กรุงเทพมหานครใช้งานอยู่ เพราะหากเราทำไปเลยทันทีอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือความปลอดภัยเพียงพอ รถต้นแบบคันนี้จะเป็นคำตอบของ 500 คันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ในส่วนของการดำเนินงานนั้น กองโรงงานช่างกล กรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้ดำเนินการถอดเครื่องยนต์และติดตั้งอุปกรณ์ให้สมดุลตามเดิม เพื่อที่จะขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า จะดูแลด้านเทคนิคในการปรับแต่งอุปกรณ์ไฟฟ้า ควบคุมเรื่องกระแสไฟฟ้า ความเร็วรอบมอเตอร์ ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่ารถคันนี้จะใช้งานได้อย่างปลอดภัยตามที่กำหนด”
รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ จะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยระหว่างที่ดำเนินการดัดแปลง จะมีการเตรียมพร้อมหลักสูตรการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานและประชาชนที่สนใจไปด้วย ภายใต้การดำเนินการของอาจารย์สมหวัง เจียสินเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร
“โรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานครมี 4 แห่ง และมีหลักสูตรให้ประชาชนได้เข้ามาเรียนฟรีอยู่แล้ว การดัดแปลงรถไฟฟ้าก็จะถูกบรรจุเข้าเป็นอีกหลักสูตรหนึ่งของโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนที่อยากจะดัดแปลงรถไฟฟ้าเอง ทั้งเปลี่ยนจักรยานธรรมดาเป็นจักรยานไฟฟ้า หรือดัดแปลงรถจักรยานยนต์เป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า ได้รู้ว่าดัดแปลงอย่างไรให้มีความเหมาะสม พอดีกับการใช้งาน ไม่เกินจำเป็น เพราะถ้าติดส่วนเกินมากไปจะทำให้ราคาแพง และติดตั้งอย่างไรถึงจะปลอดภัย
“ซึ่งถ้าได้มาฝึกอาชีพกับโรงเรียน เขาจะสามารถนำองค์ความรู้กลับไปทำเองที่บ้านได้เลย แต่จะยังไม่ถึงขั้นดัดแปลงรถยนต์บรรทุกเพราะมีความซับซ้อน เหมาะกับการดัดแปลงจักรยาน จักรยานยนต์ หรือสกูตเตอร์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งเพียงแค่มอเตอร์กับแบตเตอรี่ไฟฟ้าก็สามารถทำงานได้เลย”
ทั้งนี้ หลักสูตรและการฝึกอบรมสำหรับประชาชนทั่วไป จะเกิดขึ้นหลังจากที่รถต้นแบบได้ผ่านการทดสอบการใช้งานแล้วว่ามีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความปลอดภัย และผ่านการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก
“เราหวังว่ารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จะเป็นคำตอบในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของสังคมไทย” ภูวดลกล่าวทิ้งท้าย