คุณอาจคิดไม่ถึง ว่าถ้ารู้หลักเลือกอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคภัยอันเป็นผลกระทบจากมลพิษทางอากาศได้ ว่าแต่หลักการเลือกอาหารที่ว่านี้คืออะไรเราไปดูกัน
กอบกู้สุขภาพ จาก PM2.5 ด้วย ‘อาหารอีสานดั้งเดิม’
สถิติการศึกษาอาหารสุขกาพในคนเกษียณอายุขององค์กรสุขกาพ แห่งสหรัฐอเมริกา โดยเก็บผลสำรวจจากกลุ่มดังกล่าวจำนวนห้าแสนกว่าคน ติดต่อกันเฉลี่ย 17 ปี รายงานว่า ‘การเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราการตาย จากโรคหัวใจขาดเลือด 16% โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) 15% โรคหัวใจและหลอดเลือด 13%’
ข้อมูลข้างต้น ชี้ชัดว่า ‘หลอดเลือดและหัวใจ’ คือ สิ่งที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 อย่างมาก ดังนั้น การดูแลรักษาหลอดเลือดให้แข็งแรง ก็เป็นทางที่จะช่วยป้องกันผลเสียที่เกิดขึ้นกับสุขภาพได้ ซึ่งอาหารมีส่วนช่วยให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงขึ้นได้
โรงพยาบาลจุฬาฯ และสภากาชาดไทย แนะนำว่า อาหารอีสานโบราณนั้นมีความคล้ายคลึงกับอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งความดีงามคืออาหารทั้งสองชนิดนี้สามารถช่วยลดอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดและหัวใจได้นั่นเอง ลักษณะสำคัญของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนคือ กินธัญพืชไม่ขัดสี เน้นกินผัก ผลไม้ ใช้โปรตีนจากปลาเป็นหลัก บริโภคถั่วเปลือกแข็ง กินงา น้ำมันมันรำข้าว น้ำมันมะกอก กินเนื้อสัตว์ใหญ่แต่น้อย และไม่กินเนื้อสัตว์สำเร็จรูป
ซึ่งอาหารอีสานดั้งเดิมนั้น มีส่วนประกอบหลายอย่างคล้ายคลึงกับหลักของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่กล่าวมา เพราะเน้นการปรุงแต่น้อย และวัตถุดิบหลักจำพวกโปรตีนก็นิยมบริโภคปลาเป็นหลัก ไม่ค่อยกินอาหารที่มีไขมันสูง
เราจึงสามารถใช้อาหารอีสานต้านผลเสียต่อสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจจาก PM2.5 ได้จริง เพียงแต่ในโลกปัจจุบัน อาจต้องคำนึงถึงเรื่องรสชาติเค็มและเครื่องปรุงประเภทโซเดียมสูง หากลดสองส่วนนี้ได้ อาหารอีสานรสแซ่บก็กลายเป็นพระเอกผู้ช่วยกอบกู้สุขภาพในแต่ละมื้ออร่อยของคุณแล้ว
เน้นอาหารต้านอนุมูลอิสระ
PM2.5 ที่เข้าสู่ร่างกายและสะสมเป็นเวลานาน ส่งผลให้เซลล์ภายในเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น และส่งผลต่อการเกิดโรค หรือทำให้โรคภัยเดิมที่มีอยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้นได้
กรมอนามัยจึงแนะนำเรื่องอาหารต้าน PM2.5 ว่า หลักใหญ่ใจความคือ ควรบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ และให้ความสำคัญกับการบริโภคผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงๆ เข้าใว้
โดยอาหารเมนูอาหารที่แนะนำเช่น แกงจืดตำลึง ผัดผักบุ้ง ฟักทองผัดไข่ ผัดบร็อกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แครอต
จากข้อมูลข้างต้น ผู้เขียนคิดเห็นว่า วัตถุดิบอาหารทั้งหมวดแป้ง หรือผักผลไม้ที่มีสีม่วงเข้ม ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงๆ ก็น่าจะเป็นทางเลือกบำรุงสุขภาพต้านอนุมูลอิสระได้ดี เช่น ข้าวสีนิล ลูกหม่อน กะหล่ำม่วง เป็นต้น
ระวังฝุ่น PM2.5 ปนเปื้อนใน Street Food
ประเด็นนี้หลายท่านอาจคาดไม่ถึง แต่เกิดขึ้นจริง โดยอันตรายจากฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่วางจำหน่ายข้างทางแบบไม่มีอะไรปิดกั้น เมื่อเราท่านกินเข้าไป จะกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร และไปอุดตันหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดเข้าสู่สมองหรือหัวใจมีปัญหา ก่อให้เกิดการระคายเคืองภายในร่างกาย เกิดการอักเสบต่างๆ ได้
ดังนั้นวิธีปรับตัวอีกอย่างที่ควรทำคือ หากชื่นชอบอาหารริมทาง ก็ควรเลือกซื้ออาหารจากร้านที่มีตู้ปกปิดอาหารมิดชิด หม้ออาหารก็ต้องมีฝาปิด ไม่วางโล่งๆ ไว้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ได้
รู้หลักสามอย่างในการเลือกซื้อหาวัตถุดิบและอาหารสุขภาพ เพื่อบำรุงสุขภาพไม่ให้ได้รับผลเสียต่อ PM2.5 กันแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปฏิบัติตามกัน และที่สำคัญเราเองก็ต้องช่วยปรับพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยลด PM2.5 กันด้วย ถ้าเราตั้งใจแก้ปัญหานี้ร่วมกันจริงจัง เชื่อว่าอากาศบริสุทธิ์จะกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล:
1. www.multimedia.anamai.moph.go.th
2. www.thairath.co.th
3. www.chulalongkornhospital.go.th
1. www.multimedia.anamai.moph.go.th
2. www.thairath.co.th
3. www.chulalongkornhospital.go.th