ต่อให้มีการปราม การปราบด้วยการตรวจจับปรับ หรือการกำชับให้ยึดมั่นในกฎกติกาบนท้องถนนแค่ไหน ทุกวันที่ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนเราก็ยังคงเห็นควันดำถูกปล่อยจากท่อไอเสียรถกันอยู่ทุกวัน แม้เราจะพูดกันอยู่แทบจะทุกวันเหมือนกันว่าควันดำนั้นไม่ดีกับเราแค่ไหนก็ตาม
ทำไมควันดำจึงถูกมองเป็นผู้ร้ายบนท้องถนนนัก คำตอบนี้ยังคงยืนยันว่าควันดำไม่มีทางเปลี่ยนบทบาทจากผู้ร้ายมากลายเป็นดีได้ เพราะในหมู่ควันที่เราเห็นจากปลายกระบอกท่อไอเสียนั้น เป็นศูนย์รวมมลพิษที่ส่งผลให้อากาศของเมืองไม่ดีต่อลมหายใจ และยังกระทบไปถึงสุขภาพของผู้คนในวงกว้างอีกด้วย
ควันดำที่เราเห็น คืออนุภาคของถ่านหรือคาร์บอน ที่มีลักษณะเป็นผงเขม่าเล็กๆ ซึ่งเหลือจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นส่วนใหญ่ อย่างรถเมล์ รถขนส่งสินค้า รถกระบะ รถบรรทุก และเพราะครื่องยนต์ดีเซลจะจุดระเบิดด้วยการอัด จึงมักเกิดการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดแก๊สพิศในไอเสีย ที่ประกอบด้วยไนโตรเจนออกไซด์ สารพิษที่เป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ และเมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศก็จะทำให้เกิดโอโซนที่เป็นสาเหตุหลักของฝุ่นควัน
นอกจากไนโตรเจนไดออกไซด์ที่อยู่ในควันดำแล้ว ยังมีไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันหล่อลื่นที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์หรือเผาไหม้ไม่หมด แล้วเกิดกลิ่นที่เมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะภายใน และเกิดเป็นฝุ่นควันเมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศเช่นกัน
ส่วนคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่เราได้ยินการเอ่ยถึงกันบ่อยๆ เป็นแก๊สพิษที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เกิดขึ้นขณะสันดาปที่ออกซิเจนไม่เพียงพอจนคาร์บอนไม่สามารถทำปฏิกิริยาให้เกิดเป็นคาร์บอนได้ออกไซด์ได้ แต่ถ้าเทียบกับเครื่องยนต์เบนซินแล้ว การเกิดขึ้นในเครื่องยนต์ดีเซลจะน้อยกว่า
และในกลุ่มควันนี้ แก๊สพิษที่เราเห็นชัดที่สุดคือเขม่าควันดำ เพราะมีลักษณะเป็นฝุ่นละอองให้เราเห็นแบบจับต้องได้ เป็นละอองของคาร์บอนขนาดเล็กในรูปควันดำ ที่เกิดขึ้นขณะที่มีเชื้อเพลิงผสมหนาเกินไป สามารถฟุ้งกระจายได้ในอากาศ และเป็นต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่เราไม่อยากเห็นกันนั่นเอง
ยิ่งเมื่อเราหายใจเอาควันดำเข้าสู่ปอด ก็จะเกิดการสะสมในถุงลมปอด เป็นสารให้เกิดโรคมะเร็ง หรือเป็นตัวนำสารให้เกิดโรคมะเร็งปอดและทำให้หลอดลมอักเสบได้
ความร้ายไม่เลิกของควันดำ ทำให้การเข้มงวดกวดขันต่อรถที่ปล่อยควันดำกลับมาได้รับการทบทวนใหม่ โดยกรมการขนส่งทางบกได้ปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานค่าควันดำและวิธีการตรวจวัด ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดขึ้น และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ว่า
กรณีการตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมร้อยละ 45 และหากตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบกระดาษกรอง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมร้อยละ 50 ซึ่งเกณฑ์การตรวจควันดำใหม่มีผลบังคับใช้กับการตรวจวัดควันดำรถที่มาดำเนินการตรวจสภาพรถก่อนจดทะเบียน หรือตรวจสภาพรถก่อนชำระภาษีประจำปีที่สำนักงานขนส่ง และสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ทุกแห่งแล้ว
โดยหากตรวจวัดควันดำด้วยระบบวัดความทึบแสง แล้วมีค่าควันดำเกินร้อยละ 30 หรือตรวจวัดควันดำด้วยระบบกระดาษกรอง แล้วมีค่าควันดำ เกินร้อยละ 40 เจ้าของรถจะถูกเปรียบเทียบปรับสูงสุด 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถด้วยการพ่นข้อความ ‘ห้ามใช้’ จนกว่ารถคันนั้นจะถูกนำไปแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินกำหนด และนำมาตรวจสภาพอีกครั้งจนผ่านการตรวจวัด ถึงจะรถคันนี้ไปใช้งานได้
ถึงตอนนี้ รถคันไหนที่มีปัญหาควันดำอยู่ และเคยผ่านเกณฑ์การตรวจมาแบบเฉียดฉิว ก็ถึงเวลาต้องกลับไปแก้ไขเครื่องยนต์ให้ปล่อยควันดำออกมาอย่างไม่เกินกำหนดของมาตรฐานใหม่ แต่ถ้าจะให้ดีควรวิธีปรับแก้ให้รถคันเก่งที่ช่วยเราหารายได้ปล่อยควันดำออกมาให้น้อยที่สุด เพราะไม่ใช่แค่ดีต่อผู้คนและเมืองต้องการอากาศดีเข้ามาไล่อากาศแย่ๆ แล้ว ยังดีกับสุขภาพของรถเราด้วย
ที่มาข้อมูล:
1. www.dlt.go.th
2. www.nectec.or.th
3. autoinfo.co.th