หนึ่งเรื่องที่หนักลมหายใจของคนเมืองในช่วงหลายปีมานี้ คือปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ที่มาตามนัดในช่วงหน้าแล้ง ต้องยอมรับว่าต้นทางของฝุ่นที่เกิดขึ้นในเมือง มากกว่าร้อยละ 54 มาจากการขนส่งทางถนน แต่ถึงอย่างนั้นสาเหตุอื่นที่มีส่วนเร่งเร้าให้ฝุ่นควันก่อตัวหนักขึ้นก็ยังมี และไม่พร้อมที่จะให้เพิกเฉยกันได้ต่อไปอีก
ความหวังของการแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย จึงต้องฝากไว้ที่ระดับบริหาร โดยเฉพาะผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯ คนใหม่ ว่าจะใส่ใจกับเรื่องนี้จริงจังแค่ไหน
ก่อนที่ว่าที่ผู้ว่าฯ จะจับสลากได้หมายเลขผู้สมัคร เราย้อนเวลากลับไปที่วันที่ 28 มีนาคม 2565 ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือกับเครือข่ายคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 8 หัวข้อ ‘นโยบายผู้สมัครผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน’ ซึ่งในงานเสวนาครั้งที่ 1 นี้ ได้ชวน 4 ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มาร่วมพูดคุยแสดงวิสัยทัศน์และเสนอนโยบายเพื่อกอบกู้อากาศของเมืองด้วย
ใครพูดอะไร และมีไอเดียจัดการแบบไหน เราขอสรุปมานำเสนอไว้ตรงนี้
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
เสนอแนวทางใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางสังคม ด้วยปัญหาฝุ่นควันสร้างผลกระทบมากที่สุดกับคนทำงานกลางแจ้ง คนเดินถนน คนกลุ่มเปราะบางที่สร้างมลพิษน้อยที่สุด ผู้ก่อปัญหาจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการจัดการมลพิษที่สร้างขึ้น โดยไม่ให้ผู้ก่อมลพิษน้อยที่สุดต้องมาเป็นผู้รับผลกระทบแทน
ด้านมลพิษที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม ถึงเวลาที่ต้องเคร่งครัดกับการใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษที่เกินค่ามาตรฐานจากปากปล่องโรงงาน ต้องหารือกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อยกระดับมาตรฐานการควบคุมมลพิษ กล้าเตือนและให้โอกาสปรับปรุง ถ้ามีค่าเกินมาตรฐานต้องถูกสั่งปิดชั่วคราว จนกว่าจะสามารถควบคุมการปล่อยให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศได้
ส่วนปัญหาเรื่องควันดำจากยานพาหนะประเภทต่างๆ ก็ควรได้รับการกวดขัน เขามองว่า ผู้ว่าฯ สามารถคุยกับ ขสมก. คุยกับนายทุนได้ เพื่อจำกัดประเภทรถที่จะเข้ามาวิ่งในกรุงเทพฯ ชั้นใน และควรต้องจัดประชาพิจารณ์ขึ้นเพื่อให้เกิดฉันทามติ ว่ากรุงเทพฯ ชั้นในสามารถทำ ULEZ หรือ Ultra Low Emission Zone ในการจำกัดการวิ่งของรถที่ไม่ได้มาตรฐาน หากวิ่งเข้ามาจะต้องเสียค่าปรับในอัตราที่สูง และกวดขันหน่วยงานที่ตรวจสภาพรถเพื่อต่อทะเบียนให้เข้มงวดจริงจัง เพื่อไม่ให้รถที่มีควันดำได้ต่อทะเบียน
ในขณะเดียวกัน มาตรฐานมลพิษต่างๆ ต้องมีการอัพเดตให้สอดคล้องกับหลักสากล เพราะมีมลพิษอีกหลายประเภทที่ต้องเร่งควบคุม เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Total Volatile Organic Compounds) ในแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ ไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen Oxide) ที่มีความเข้มข้นกว่า 700 PPM แต่กลับถูกปล่อยออกมาโดยไม่ผ่านการบำบัด
ท้ายที่สุดแล้ว ในความเห็นของดร.วิโรจน์ เขายืนยันว่า ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องร่วมกับภาคประชาชนในการผลักดันการออกกฎหมายพระราชบัญญัติอากาศสะอาด เพื่อให้กฎหมายนี้เกิดขึ้นให้ได้ และผู้ว่าฯ ต้องเป็นหัวหอกในการจัดการปัญหามลพิษที่ถูกปล่อยออกมาให้สอดคล้องกับสากล
สกลธี ภัททิยกุล
มองถึงปัญหาอันเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกิดมาจาการใช้รถยนต์จำนวนมาก หน้าที่ของผู้ว่าฯ คือต้องส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลง และการทำระบบขนส่งสาธารณะที่มีการเชื่อมต่อมาเกื้อหนุน ทั้งระบบล้อ ราง เรือ ก็เป็นหน้าที่ของกทม. ส่วนรถที่ใช้งานในสังกัดกทม. จะต้องเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น
นอกจากมองปัญหามลพิษจากการขนส่ง การลักลอบทำผิดกฎหมายซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น การลักลอบเผาขยะก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องมีการจัดการ สกลธีชี้ให้เห็นตัวเลขจำนวนขยะในกทม. ที่มีมากถึงวันละ 9,000 ตัน แบ่งนำไปเผา 500 ตัน นำไปทำปุ๋ย ทำเป็นเชื้อเพลิง RDF อีก 2,500 ตัน ส่วนอีก 6,000 ตันที่นำไปฝังกลบ ก็ต้องมีค่าจ้างขนปีละ 2,000 ล้านบาท และยังส่งกลิ่นเหม็น
ข้อเสนอจากสกลธี คือต้องนำมาตรการกฎหมายมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ภาคเอกชนต้องเข้ามามีบทบาทและความรับผิดชอบในการจัดการปัญหาขยะมากขึ้น โดยมอบอำนาจให้เอกชนเป็นคนเก็บ เป็นคนกำจัด หรือนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น สกลธียืนยันว่า ปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM2.5 จะแก้ไขได้หากผู้ว่าฯ กล้าออกคำสั่ง กล้าใช้กฎหมาย ซึ่งไม่ว่าจะเรื่องการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง การจำกัดการวิ่งของรถบรรทุกในช่วงเวลาหรือโซนใดโซนหนึ่ง ล้วนเป็นกฎหมายที่ผู้ว่าฯ สามารถทำได้
ฝุ่นที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โซนเพาะปลูก และฝุ่นจากการก่อสร้าง จะต้องนำกฎหมายเข้ามาบังคับใช้เช่น คนที่เป็นผู้ว่าฯ ต้องเอาเครื่องมือที่มีอยู่ในมือมาบังคับใช้กฎหมาย แม้จะไม่ถูกใจเสียงบางส่วนก็ต้องมองในภาพรวม เพื่อให้เกิดคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และยังได้เสนอการนำพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาทำเป็นสวนสาธารณะ โดยบริหารจัดการภายใต้งบประมานที่กทม.มีให้เกิดความเป็นจริงได้มากที่สุด
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
เสนอแนวทางหลัก 4 ข้อเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ คือต้องให้ประชาชนรู้ตัว ประกาศสงครามกับฝุ่นอย่างจริงจัง นำนโยบายภาษีฝุ่นเข้ามาใช้ และแก้ไขด้วยนวัตกรรมของเมือง
ในทางปฏิบัตินั้น สุชัชวรีร์เสนอว่าควรมีการดำเนินการในระดับนโยบายเพื่อสร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหา กระจายความรู้และข้อมูลด้านมลพิษและคุณภาพอากาศให้ประชาชนอย่างทั่วถึงโดยร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความน่ากลัวของฝุ่นพิษ ควรมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 2,000 จุด ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องวัดอยู่เพียงหลักร้อยจุด และควรนำค่าฝุ่นแสดงขึ้นบนป้ายเพื่อเตือนว่าประชาชนควรสวมหน้ากาก N95 เพื่อป้องกันตัวเอง และผู้ว่าฯ จะได้รู้ปัญหา ผู้อำนวยการเขตก็จะได้เข้าไปจัดการปัญหา
ส่วนฝุ่นที่มีต้นตอจากภาคขนส่ง ควรใช้กฎหมายกับรถขนส่งขนาดใหญ่ที่ปล่อยควันดำ โดยผู้ว่าฯ สามารถใช้อำนาจเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทนั้นจนกว่าจะแก้ไขและไม่ปล่อยควันพิษ และนำภาษีฝุ่นมาใช้ในส่วนของการก่อสร้าง โดยพื้นที่ก่อสร้างใดสามารถจัดการห่อหุ้มได้มิดชิด ไม่ปล่อยฝุ่นฟุ้งออกมา บริษัทควรได้ผลประโยชน์โดยนำไปลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ เพื่อจูงใจบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง
ปัญหากทม.เป็นปัญหาเทคนิค ต้องแก้ด้วยเทคนิค นวัตกรรมของเมืองคือสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหา รถยนต์ของกทม.ควรเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาด ป้ายรถเมล์ควรมีที่ชาร์จพลังงานไฟฟ้า และนอกจากป้ายรถเมล์จะแจ้งเวลาเดินรถได้ ควรมีป้ายเตือนที่แสดงค่าฝุ่น PM2.5 ด้วย กทม.ควรมีพัดลมเปิดปิดอัตโนมัติตามปริมาณฝุ่น และคนกทม. ควรจะได้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางได้เสียที รวมถึงทางจักรยานไฟฟ้าลอยฟ้าที่เขาหวังจะให้เกิดขึ้น
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ประกาศให้ ‘อากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน’ เขามองว่าการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในกรอบที่กทม.จะต้องทำ มีอยู่ 4 เรื่องหลัก คือกำจัด ติดตามเตือนภัย บรรเทา และป้องกัน
แหล่งมลพิษหลักของกทม. มาจากรถบรรทุกดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาชีวมวล ซึ่งการแก้ปัญหาของกทม. ไม่ใช่การตั้งเป้าไล่จับควันพิษเกินค่ามาตรฐานกำหนด แต่ผู้ใช้อำนาจต้องจริงจัง โปร่งใส นึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เมื่อกทม.ไม่มีอำนาจในการตรวจจับควันจากรถบรรทุกโดยตรง ก็ต้องมุ่งไปจับที่ต้นทาง เช่น รถแพลนต์ปูนหากปล่อยมลพิษเกินก็ต้องไปจับที่แพลนต์ หรือพื้นที่ก่อสร้างมีรถที่ก่อมลพิษ ก็ต้องยึดใบอนุญาตชั่วคราว และกทม.ต้องมีหน่วยตรวจสอบการปล่อยควันเอง
ชัชชาติมองว่าเรื่องฝุ่นควันที่เกิดจากการขนส่งนั้น เป็นสิ่งที่ กทม. ควรทำอย่างเร่งด่วน เขาเสนอว่าควรมีโรงเรียนฝึกอาชีพมาช่วยปรับปรุงเครื่องยนต์ดีเซลในรถที่อายุใช้งานเกิน 20 ปี ให้กับคนรายได้น้อยที่ยังต้องใช้รถคันเดิมอยู่ เพื่อปรับมาตรฐานควันพิษ ขณะเดียวกัน การทำ Low Emission Zone ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ
เรื่องมลพิษที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีหน่วยงานตรวจสอบฝุ่นควันมาตรฐานจริงจัง และมีเครื่องตรวจวัดฝุ่นเรียลไทม์อย่างน้อย 6,000 จุด ตามโรงงานอุตสาหกรรม ให้สามารถส่งข้อมูลมาที่ส่วนกลาง เป็นการใช้เทคโนโลยีจัดการที่ต้นตอ
ด้านฝุ่นที่เกิดจากการเผาชีวมวลที่อาจมาจากการเผานอกพื้นที่ กทม.ควรต้องเป็นเจ้าบ้านที่เข้มแข็ง กระตือรืนร้นในการใช้อำนาจตามกฎหมายพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม ไม่อ้างว่าอยู่นอกเขตดูแล ต้องจับมือกับสถานศึกษา ตั้งขบวนนักสืบฝุ่น เพื่อวิจัยปัญหาร่วมกัน
มีเครือข่ายเซ็นเซอร์เตือนภัยจากค่าฝุ่นได้แบบเรียลไทม์ตามป้ายรถเมล์ สถานศึกษา เพื่อจะได้รู้ว่าค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่ต้องป้องกันแล้วหรือยัง และใช้ข้อมูลพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาในการดูทิศทางลม ดูชีวมวล เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัวรับมือ หากควบคุมไม่ได้ก็ต้องมีวิธีป้องกัน มีหน้ากากป้องกัน มีห้องปลอดภัยในกลุ่มเปราะบาง หรือศูนย์อนามัยที่ทำสามารถได้เลย
เขาทิ้งท้ายว่า กทม. ต้อง ‘เอ๊ะ’ ไม่ ‘อือ’ อย่างเดียว ถ้ามีโครงการไหนที่ทำอยู่แล้วเกิดชะงักต้องติดตามทันที ต้องตื่นตัวในการกระตุ้นการตื่นรู้ของประชาชน ควรทำกรุงเทพฯ ให้เป็น open data เพื่อให้ทุกอย่างเชื่อมโยงทันที และเลิกตั้งกรรมการเพิ่มเสียที แต่หันมาปรับปรุงกระบวนการให้ดี โดยให้ระดับปฏิบัติการคุยกันได้เลย ไม่ต้องรอระดับบนสั่งการ จะทำให้การทำงานคล่องตัวกว่า
ทั้งหมดนี้เป็นวิสัยทัศน์ส่วนหนึ่งจากว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ที่หลายแนวทางล้วนน่าสนใจหากมีการนำมาปฏิบัติการจริงหลังจากเราได้ผู้ว่าฯ คนใหม่ ไม่ว่าใครคนใดจะได้รับตำแหน่งนี้จากมติของคนกรุงเทพฯ ก็ตามที
ที่มาข้อมูล:
1. www.facebook.com/ChulaEngineering
2. www.facebook.com/wirojlak/photos
3. www.pr-bangkok.com/…/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnE…
4. www.facebook.com/suchatvee.ae
5. www.nationtv.tv/news/378856288