‘รถเมล์ไฟฟ้า ไทยสมายล์บัส’ หากใครยังไม่เคยได้ยินชื่อนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเจ้ารถเมล์ไฟฟ้านี้ยังไม่ใช่รถเมล์ที่ปรากฏอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่ในที่สุดกรุงเทพฯ ก็มีรถเมล์สายพันธุ์ใหม่ อย่าง ‘รถเมล์ไฟฟ้า’ เหมือนกับประเทศอื่นเขาแล้ว โดยได้เริ่มออกวิ่งในเส้นทางกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ขณะเดียวกันก็กำลังขยายเส้นทางให้รองรับผู้ใช้บริการมากขึ้นในอนาคต
และนี่อาจเป็นตัวแทนรถเมล์ในฝันของนักเดินทางด้วยรถเมล์หลายๆ คนในเมืองไทย ที่เฝ้าฝันมานานในการใช้บริการรถเมล์ที่มีคุณภาพ ทั้งสภาพรถ ระบบที่สะดวกเข้าถึงกับทุกคน บรรยากาศสงบ แถมยังใช้พลังงานสะอาด 100% ในการขับเคลื่อนตลอดการเดินทาง เป็นมิตรกับทั้งพนักงานขนส่ง ผู้โดยสารทุกคน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ว่าแล้วนักโดยสารรถเมล์ตัวยงอย่างเราเลยไปลองใช้บริการรถเมล์ไฟฟ้า ไทยสมายล์บัส เดินทางในกรุงเทพฯ ให้รู้กันไปเลย ว่าจะเวิร์กอย่างภาพฝัน หรือระบบการใช้งานจะต่างกับรถเมล์ธรรมดาที่วิ่งอยู่ขณะนี้ขนาดไหน
แนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)
รถเมล์ไฟฟ้าคันนี้ ไม่ต้องเสี่ยงเอาชีวิตไปทิ้งเกือบถึงเลนส์สองเพื่อโบกรถเมล์ หรือเฝ้าชะเง้อ แล้วเตรียมตัวขึ้นเมื่อรถเมล์กำลังถึงป้าย แต่แล้วก็ผ่านไปต่อหน้าต่อตา เพราะเจ้ารถเมล์ไฟฟ้าคันนี้วิ่งเลนส์ซ้ายตลอด เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับส่งผู้โดยสาร
ทั้งยังถูกออกแบบให้มีชานต่ำและระบบไฮดรอลิกทางลาด ช่วยให้พื้นรถปรับเข้ากับระดับฟุตปาธ ให้ผู้โดยสารขึ้นลงได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ใช้วีลแชร์ หรือรถเข็น สามารถเข็นขึ้นรถเมล์ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงใช้ระบบให้ผู้ใช้งาน ขึ้นรถประตูหน้า ลงรถประตูหลัง ซึ่งเป็นระบบเดียวกับรถเมล์หลายๆ เมืองในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีกริ่งสัญญาณหยุดรถติดตั้งอยู่ทั่วคัน ไม่ต้องกลัวกดกริ่งไม่ทันแล้ว
เช็กพิกัดรถเมล์ ชำระเงินด้วยแอปพลิเคชั่น TSB Go
ถ้าใครใช้บริการรถเมล์เป็นประจำ เชื่อเลยว่าต้องเคยรอขึ้นรถอย่างไร้จุดหมาย เหมือนล่องเรือลำเล็กท่ามกลางพายุ หรืออาจเคยรอรถถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งรถเมล์ไฟฟ้า ไทยสมายล์บัส มีแอปพลิเคชั่นชื่อว่า TSB Go สามารถเช็กได้ว่าป้ายที่เราจะขึ้น มีรถเมล์ไฟฟ้าสายไหนผ่านบ้าง แล้วกำลังเดินทางถึงไหนแล้ว รวมถึงดูเส้นทางการเดินทาง คำนวณการเดินทางของการเดินรถ
และยังมีฟีเจอร์เชื่อมต่อการเดินทาง ‘รถ-เรือ-ราง’ แบบครบวงจร สแกนจ่ายได้ด้วย QR Code บัตรเดบิต เครดิต รวมถึงยังเตรียมออกบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสมายล์บัส และมีฟีเจอร์ช่องทางเปิดรับฟังความคิดเห็น และข้อร้องเรียนจากผู้โดยสารแบบเรียลไทม์
แต่หลังจากทดลองใช้ ระบบนี้ยังค่อนข้างใช้ยากพอควร และยังดูไม่สมบูรณ์เท่าไหร่นัก อาจจะต้องรอดูต่อไปในอนาคตว่าจะมีการพัฒนาให้ง่ายกับการใช้งานขึ้นอย่างไร
เป็นมิตรต่อหู และเป็นมิตรต่อการใช้งาน
สำหรับรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า 100% นั้นไร้ปัญหาเสียงดังรบกวน เครื่องยนต์เงียบกว่ารถเมล์ที่ให้บริการเราทุกคนอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ รวมถึงไม่สร้างมลภาวะทางเสียง ทั้งกับผู้โดยสารภายในรถ และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ซึ่งมลภาวะทางเสียงการจราจรเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนเมือง โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการจราจรที่สูงกว่า 53 เดซิเบล อาจส่งผลให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ การสูญเสียการได้ยิน และระดับเสียงรบกวนที่เกิดขึ้น ซึ่งทั่วทั้งเอเชียและเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ โฮจิมินห์ซิตี้ ฮ่องกง มะนิลา สิงคโปร์ และ โซล เฉลี่ยอยู่ที่ 76 เดซิเบล หรือเกือบ 4 เท่าของระดับเสียงที่เหมาะสม
นอกจากนี้ภายในส่วนของที่นั่งมีความแข็งแรงมั่นคง ไม่โอนเอียงไปตามแรงเหวี่ยงเหมือนที่เคยเจอ และมีพื้นที่วางขากว้างพอสมควร รวมถึงช่องแอร์ มีฟังก์ชันเลื่อนเปิด-ปิด เลือกรับลมเย็นได้ ไม่ต้องนั่งหน้าชาตัวสั่นตลอดทางเวลารถติดและแอร์หนาวเฉียบ นอกจากนี้ที่สังเกตเห็นอีกอย่างคือ มีจุดชาร์จมือถือ (USB Charger) อยู่ทุกเสา ตอบโจทย์คนใช้งานยุคนี้ที่มีมือถือเป็นอวัยวะที่ 33
ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในช่วงปีหลังๆ ไม่ใช่แค่ผู้โดยสารรถเมล์ แต่ทุกคนที่ใช้ชีวิตในเมืองน่าจะสังเกตเห็นว่าภาพมวลอากาศขุ่นๆ ปัญหาของฝุ่นควันและมลพิษ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงตามหัวเมืองใหญ่ๆ มาหลายปี โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่มาเยือนทุกปี
ซึ่งการมาของรถเมล์ไฟฟ้า ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดมลภาวะได้เป็นอย่างดี เพราะหากใครเคยยืนรอรถเมล์ นั่งรถเมล์ร้อน หรือซ้อนท้ายพี่วิน ย่อมคุ้นแต่ไม่ยักชินสักทีกับเวลาที่รถเมล์แบบเดิมๆ สภาพเก่าๆ มักปล่อยทั้งความร้อนและควันดำออกมา ซึ่งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและส่งผลเสียต่อร่างกายเราที่ต้องเดินทางอยู่ทุกวัน
หลังจากที่ได้ทดลองใช้บริการรถเมล์ไฟฟ้า เราพบว่าอาจจะมีติดขัดเรื่องการใช้งานบ้าง เช่น เส้นทางการเดินรถที่ยังไม่ครอบคลุม เพราะตอนนี้มีอยู่ 10 สาย (ปอ.7 ปอ.207 ปอ.4-21 (120) ปอ.56 สาย 6, 39, 132, 133, 35 และ 80ก) ทำให้จำนวนรถมีไม่มากพอสำหรับทุกคน และระบบแอปพลิเคชั่นยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาของการบริหารจัดการ
แต่การมาของรถเมล์ไฟฟ้า อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างขนส่งสาธารณะพื้นฐาน และการสร้างเมืองสีเขียว คือมีตัวรถที่เอื้อให้ทุกคนเดินทางได้เท่าๆ กัน มีระบบเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาอำนวยความสะดวกสบาย และเป็นรถเมล์ใหม่ สภาพดี ใช้พลังไฟฟ้า 100% ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
ถ้าอนาคตทำให้เวิร์กต่อไปได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ที่เป็นขนส่งมวลชนขั้นพื้นฐาน ให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม
ภาพ: ไทยสมายล์บัส