คุณภาพอากาศในเมืองหลวง มีระดับตัวเลขที่น่าพอใจให้เราได้หายใจสะดวกมาได้ระยะหนึ่ง ตามธรรมชาติของฤดูกาล และหลังจากนี้เราต่างต้องเตรียมตัวรับมือกับความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ที่จะเวียนกลับมาสร้างปัญหาให้กับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะปัญหาต่อลมหายใจและสุขภาพ
เพื่อให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย (Scenario Thailand Foundation) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ดำเนินโครงการ ‘สานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สสส. และภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ มีความเห็นว่า ภารกิจนี้ต้องการพลังร่วมอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุผลนี้ มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย จึงได้จัดกระบวนการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันออกแบบ ‘สภาลมหายใจ กทม.’ ขึ้น โดยมีตัวแทนภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ทั้งภาครัฐ อาทิ สสส., กรรมาธิการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, กรมควบคุมมลพิษ, กองบังคับการตำรวจจราจร, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ฯลฯ
ภาคเอกชน และภาคประชาชน อาทิ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, ชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล, มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่, มูลนิธิการเดินและการปั่นจักรยาน, กรีนพีซ, สภาลมหายใจเชียงใหม่ ฯลฯ
ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งสภาลมหายใจ กทม. ตัวแทนผู้เข้าร่วมจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้สะท้อนภาพสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปัจจุบัน แผนการลดฝุ่นปี 2567 ของกรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งเรื่องการติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง การลดฝุ่นที่แหล่งกำเนิด การป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชน และการสร้างการมีส่วนร่วม ทั้งนี้จะมีการเพิ่มสถานีตรวจวัดให้ได้ 1,000 จุด จาก 700 กว่าจุด มีการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
ด้านตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ฉายให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานที่ผ่านมา โดยปัญหาไฟป่ายังเป็นภาพใหญ่ของปัญหาฝุ่นในประเทศ ด้วยการทำงานที่ไม่ได้มุ่งเป้า มีหลายหน่วยทำงานแต่ไม่เกิดการบูรณาการ งบประมาณที่ไม่สัมพันธ์ต่อการจัดการไฟป่า ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน และการสื่อสารที่ประชาชนเข้าไม่ถึง
ซึ่งปีนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ จัดตั้งงบประมาณ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ปัญหามากขึ้น ส่วนการสื่อสารจะพัฒนาให้มีการสื่อสาร 4 ระดับ คือ รายงานล่วงหน้า รายงานปกติ รายงานกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน และให้ความรู้ด้านวิชาการ
ในขณะที่ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดตั้งสภาลมหายใจ ได้ร่วมแบ่งปันแนวทางและการทำงานตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เกิดเป็นบทเรียนและนำมาสู่แผนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยชี้ว่า ผู้บริหารเมืองมีการเปลี่ยนแปลงตามวาระ การทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
จากนั้น ตัวแทนภาคีได้แบ่งกลุ่มและร่วมกันระดมความคิด เพื่อกำหนดคุณค่าและคุณลักษณะ หรือบทบาทของสภาลมหายใจ กทม. ที่จะเอื้อต่อการขับเคลื่อนของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
โดยสภาลมหายใจ กทม. จะเป็นเครือข่ายปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือในเชิงข้อมูล นำเสนอมุมมองในการแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกตีกรอบภายในองค์กรหรือหน่วยงานใด เป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารทั้งการสื่อสารถึงรัฐและประชาชน มีการทำงานแบบเชื่อมโยง ผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นเมืองที่น่าอยู่
ปิดท้ายการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ได้มีการเสนอชื่อคณะกรรมการสภาลมหายใจ กทม. ชุดชั่วคราว โดยมีคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานสภาลมหายใจ กทม. และ ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นรองประธาน ด้วยมติเอกฉันท์ พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานต่อไป
ทั้งนี้ สภาลมหายใจ กทม. จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ที่มีเครือข่ายจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ และหนุนเสริมการทำงานของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของคนเมืองหลวงและปริมณฑล ให้ได้มีอากาศที่สะอาดสำหรับทุกลมหายใจ