การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานสภาลมหายใจ กทม. พร้อมคณะ เข้าประชุมหารือเกี่ยวกับฝุ่นกับอัตราการระบายอากาศในประเทศไทย ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 เพื่อรับทราบข้อมูลและนำมาวางแผนการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 ต่อไป
ทั้งนี้ สภาลมหายใจ กทม. คือองค์กรที่ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยการทำงานร่วมกันของเครือข่ายจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของคนเมืองหลวงและปริมณฑล ร่วมจัดตั้งโดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ผู้ดำเนินโครงการ ‘สานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง)’ ภายใต้การของสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นเกิดขึ้นตลอดทั้งปี โดยแหล่งกำเนิดจากควันท่อไอเสียเป็นปัญหาใหญ่ ร่วมด้วยฝุ่นควันจากอุตสาหกรรม และจะถูกซ้ำเติมหนักเมื่อถึงฤดูเผาที่แม้จะไม่เกิดการเผาในเมืองหลวงโดยตรง แต่ฝุ่นควันจากภูมิภาคอื่นจะพัดเข้าสู่เมืองด้วยกระแสลม ประกอบกับอัตราการระบายอากาศที่มีค่าต่ำในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 สูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นการจะแก้ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ ต้องแก้ปัญหาฝุ่นในต่างจังหวัดด้วย
กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้คำอธิบายความสัมพันธ์นี้ว่า “ถ้ามวลอากาศเย็นมีกำลังแรง จะทำให้ลมแรงและการระบายอากาศดี ฝุ่นละอองกระจายได้ดี แต่ถ้าช่วงที่มวลอากาศเย็นอ่อน การระบายอากาศและการหมุนเวียนแนวดิ่งจะน้อยลง ทำให้การสะสมของฝุ่นละอองมีมากขึ้น”
ในปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาแล้ว ตัวแปรสำคัญที่มีต่อค่าฝุ่น PM2.5 คือ ฝนที่มีปริมาณมากกว่า 10 มิลลิเมตร ครอบคลุมเกิน 50% ของพื้นที่ ความเร็วลมที่มากกว่า 7 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความสูงของชั้นบรรยากาศใกล้พื้นผิว การผกผันของอุณหภูมิแนวดิ่งที่ใกล้ระดับพื้นผิว อัตราการระบายอากาศ และพลังงานการยกตัวของอากาศ
ภายใต้ปัจจัยดังกล่าว อัตราการระบายอากาศมีความสัมพันธ์กับค่า PM2.5 อย่างมีนัยสำคัญ คือมีความสามารถในการกำจัดฝุ่นควันของบรรยากาศชั้นใกล้ผิว จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการคาดการณ์ และบริหารนโยบายตามมาตรการป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูฝนได้
โดยอัตราการระบายอากาศ ที่มีผลต่อการกำจัดฝุ่นควัน แบ่งออกเป็น 5 เกณฑ์ คือ ดีที่สุด-อากาศไม่มีเสถียรภาพ ลมแรง การเผาที่โล่งด้วยความระมัดระวัง ส่งผลกระทบน้อย, ดีมาก-การเผาในที่โล่งส่งผลกระทบค่อนข้างน้อย, ดี-การเผาในที่โล่งในเวลากลางวันเมื่ออากาศมีการยกตัว ส่งผลกระทบปานกลาง, อ่อน-การเผาในที่โล่งก่อน 11.00 น. และหลัง 16.00 น. ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก, ไม่ดี-การเผาในที่โล่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศมาก
ปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยามีกิจกรรมสนับสนุนภารกิจการป้องกันและแก้ปัญหา PM2.5 ทั้งการหยั่งอากาศด้วยบอลลูน จำนวน 6 ศูนย์ และ 5 สถานีอุตุนิยมวิทยา มีการจัดทำแผนที่ที่เวลา 07.00 น. แสดงอัตราการระบายอากาศและดัชนีอื่นๆ รวมถึงกราฟอัตราการระบายอากาศรายวัน และราย 3 ชั่วโมง 77 จังหวัด แสดงข้อมูลพยากรณ์เชิงตัวเลขอัตราการระบายอากาศระดับจังหวัด
และกำลังศึกษาโมเดลเพื่อใช้วิเคราะห์แนวโน้มอัตราการระบายอากาศ 7 วัน 7 พื้นที่ จัดทำอินโฟกราฟิกคาดการณ์การระบายอากาศ 10 วัน 6 พื้นที่ และมีแผนติดตั้งเครือข่ายติดตามชั้นบรรยากาศใกล้พื้นผิวและฝุ่นละอองในแนวดิ่ง
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังมีข้อเสนอแนะว่า กรมฯ สามารถให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลดการปลดปล่อยมลพิษและงดเผาในที่โล่ง และควรให้ข้อมูลการประเมินแนวโน้มและผลกระทบรายวันหรือรายเดือนเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ โครงการติดตามชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้น และฝุ่นละอองในแนวดิ่ง จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญในการอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์อากาศและฝุ่นละอองให้มีความสมบูรณ์และแม่นยำมากขึ้น
จากข้อมูลและเครื่องมือที่กรมอุตุนิยมวิทยามีอยู่ ได้ถูกนำมาหารือเพื่อพัฒนาแนวทางร่วมกันอย่างมีบูรณาการ รวมถึงการขยายพื้นที่วิเคราะห์แนวโน้มในรายพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่นั้นๆ นำข้อมูลพยากรณ์มานำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน การสื่อสารและทำความเข้าใจเรื่องการเผาและอัตราการระบายอากาศกับประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผาในช่วงที่อัตราการระบายอากาศไม่ดี ฯลฯ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวว่า ข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยามีอยู่นั้น จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และมีประโยชน์ต่อหน่วยงานและเครือข่ายที่ขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพอากาศ และเห็นควรจัดวาระหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเผา และหน่วยงานที่ใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ในการลดการเผา
“ทั้งหมดเริ่มจากการสื่อสาร ถ้าสื่อสารกันได้ จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งภาคสนาม ภาคนโยบาย งบประมาณ และการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และกลุ่มประชาชนตื่นรู้จะโตขึ้น”
ด้าน ดร.เจน ชาญณรงค์ รองประธานสภาลมหายใจ กทม. ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรทำข้อมูลสรุปให้ประชาชนได้รู้ถึงช่วงเวลาที่มีอัตราการระบายอากาศที่ดี เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นวิจารณญาณว่า หากจำเป็นต้องเผา ควรเผาในเวลาใดที่จะสร้างผลกระทบน้อยที่สุด
เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร.สุมิท เเช่มประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ที่ชี้ว่า ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา จะเป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้ และโมเดลวิเคราะห์แนวโน้มที่กำลังศึกษาอยู่นั้น หากเกิดขึ้นในรายพื้นที่ ไม่ว่าระดับอำเภอหรือระดับตำบล จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างมาก
ภาพ: กรมอุตุนิยมวิทยา