ปัญหาฝุ่นควันในเมืองเกิดขึ้นไม่ต่างกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีแหล่งปล่อยมลภาวะมากเป็นพิเศษ ทั้งจากการใช้รถยนต์ที่หนาแน่น ความหละหลวมในนโยบายการควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานในละแวกใกล้เมือง ยังไม่นับฝุ่นควันที่พัดพามาจากพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในหลายครั้งไกลถึงขนาดมีต้นทางมาจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงทีเดียว ‘อากาศสะอาด’ ที่ควรจะเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตของทุกๆ คน จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องรักษาและสร้างขึ้น
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ประชากรโลกกว่า 54 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในเมืองหลวง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 เท่ากับว่าประชากรโลกส่วนใหญ่กำลังต้องเผชิญกับโจทย์เรื่องฝุ่นละอองในอากาศเฉกเช่นเดียวกัน ทางออกในเรื่องนี้ นอกจากอยู่ที่นโยบายการควบคุมการปล่อยฝุ่นควันที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องอาศัยการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรด้วย
ตามรายงานจาก WHO ระบุว่า สัดส่วนของพื้นที่สีเขียวที่มีประสิทธิภาพพอสำหรับลดฝุ่นละอองในเมืองนั้นอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นละอองได้ราว 7-24 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่เมืองใหญ่หลายแห่งต่างวางนโยบายปลูกต้นไม้ในเมืองกันอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะจีนที่ผุดไอเดียสร้างพื้นที่สีเขียวราว 7 หมื่นตารางกิโลเมตร เพื่อเพิ่มอากาศสะอาดให้กับประชาชนแดนมังกรในเร็ววัน
ย้อนกลับมามองบ้านเรา สัดส่วนของพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯนั้นอยู่ที่ 6.9 ตารางเมตรต่อคน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละอองที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่นกันกับการเกิดขึ้นของ ‘สวนเบญจกิติ’ เนื้อที่กว่า 300 ไร่ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างถนนรัชดาภิเษกและถนนดำรงค์พิทักษ์ ที่เป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเมือง ทั้งในมิติของการสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ และการสร้าง ‘สวนป่า’ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่รับน้ำ รวมถึงเป็นปอดแห่งใหม่ให้กับคนกรุงด้วย
ใจความสำคัญของการทำสวนให้กลายเป็นป่า (rewilding) คือการสร้างความหลากหลายของพืชพรรณให้สอดคล้องกับภูมินิเวศ และออกแบบสวนโดยคำนึงถึงภาพรวมของสิ่งแวดล้อม มากกว่าการจัดระบบระเบียบเพื่อกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เพียงเท่านั้น ผลลัพธ์ของสวนเบญจกิติจึงออกมาเป็นสวนชุ่มน้ำ (wetland) เขียวชอุ่มกลางกรุงเทพมหานครฯ ที่วางเป้าหมายเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์อย่างนกและแมลงนานาชนิดที่จะทำให้เมืองมีชีวิตและมีระบบนิเวศน์ที่ดีขึ้น
มากไปกว่านั้น สวนเบญจกิติยังรับบทเครื่องฟอกธรรมชาติ ทั้งการฟอกน้ำ ด้วยการผันน้ำจากคลองไผ่สิงโตเข้ามาทำความสะอาดผ่านสวนป่า รวมถึงการฟอกอากาศให้เมือง ด้วยการออกแบบให้พืชพรรณมีความหลากหลาย และส่วนหนึ่งเป็นพืชชนิดที่คอยดักจับฝุ่นละอองเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ผ่านวิถีธรรมชาติบำบัดที่สร้างความรื่นรมย์ได้ด้วยในตัว
ที่ไปไกลกว่านั้น นอกจากจะเป็นสวนชุ่มน้ำที่สร้างความหลากหลายและเป็นปอดแห่งใหม่ให้กับเมืองใหญ่ ที่ปัญหามลภาวะกลายเป็นเรื่องซีเรียสขึ้นทุกขณะ สวนเบญจกิติยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมชั้นดี ราวกับหนังสือเล่มใหญ่ที่ช่วยทำให้เราเข้าใจบริบทของเมืองในมิติที่เปลี่ยนไป และทำให้เราอยู่ร่วมกับพืชพรรณรวมถึงสัตว์น้อยใหญ่ในเมืองได้อย่างกลมกลืน และเป็นมิตรต่อกันยิ่งขึ้นกว่าเดิม