1,386,769 คะแนน ที่คนกรุงเทพฯ มากกว่า 51% เทให้กับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือความเชื่อมั่นว่าชายที่มีภาพลักษณ์ ‘แข็งแกร่งที่สุด’ คนนี้ จะพาให้เมืองหลวงของเราเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น
นอกจากบุคลิกมุ่งมั่น เข้าถึงง่าย มีหลักการ และนำไอเดียใหม่ๆ มาใช้ในตอนหาเสียงตั้งแต่ใช้รถ EV ป้ายไวนิลขนาดเล็กที่มีแพทเทิร์นให้ใช้งานต่อได้ หนึ่งสิ่งสำคัญที่น่าสนใจในตัวว่าที่ผู้ว่าฯ คนนี้ คือ 214 นโยบาย ที่ ‘ทีมชัชชาติ’ ทำงานกันมาก่อนล่วงหน้า โดยพัฒนาขึ้นตามข้อเสนอแนะของประชาชน ก็เป็นการจุดความหวังขึ้นในใจแล้วว่า หากเกิดขึ้นได้ตามพิมพ์เขียวนี้ กรุงเทพฯ จะน่าอยู่ขึ้น
นโยบายทั้ง 214 ข้อที่อยู่ภายใต้แนวคิด ‘กรุงเทพฯ 9 ดี’ เมื่อได้ดูรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่าทั้งหมดเป็นหนทางที่จะนำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน และถ้าจะโฟกัสกันที่เรื่องอากาศที่เรากำลังประสบกันอยู่ แต่การรับรู้และเข้าใจนั้นยังเบาบางนัก ก็พบว่าในนโยบายเหล่านี้มีส่วนที่จะช่วยเปลี่ยนเมืองให้มีอากาศที่ดีขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่สีเขียว เรื่องการจัดการขยะ จัดการเรื่องพาหนะและการสัญจรต่างๆ และแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเชิงรุก ที่เราจะรอตั้งรับเมื่อถึงฤดูฝุ่นหนักไม่ได้แล้ว
#พื้นที่สีเขียว
การลงทุนที่คุ้มค่ากับต้นไม้ สร้างพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มขึ้น และเอื้อต่อการเข้าถึงของคนกรุงเทพฯ คือการช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ลงมือ ซึ่งนโยบายเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีอยู่ว่า
- ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง โดยแบ่งการปลูกเป็น 400 ต้น/เขต/สัปดาห์ เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการดักจับมลพิษและฝุ่นก่อนถึงประชาชน
- จัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต ทั้งจัดอบรมรุกขกรรมให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลต้นไม้ของกทม. ตัดแต่งดูแลให้ถูกต้อง ทำทะเบียนต้นไม้ให้เป็นทรัพย์สินของกรุงเทพฯ
- สวน 15 นาที ทั่วกรุง ทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งได้ด้วยการเดินในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที โดยทำเป็น pocket park ขนาดเล็กในพื้นที่ราชการและเอกชน อาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว ควบคู่กับการเพิ่มจำนวนสวนของ กทม.เอง
- สนับสนุนการแปลงที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว
- เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ ด้วยการปรับเวลาเปิด-ปิด ปรับปรุงและเพิ่มเติมโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพ ออกแบบสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้งาน
#รุกปัญหาฝุ่น
แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น จะมีทั้งการป้องกันประชาชนจากฝุ่น และแก้ไขปัญหาฝุ่นจากต้นตอ ไม่ว่าจะเป็น
- จัดทีม ‘นักสืบฝุ่น’ ศึกษาต้นตอ PM2.5 ทำบัญชีที่มาของฝุ่น ด้วยการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในการเก็บตัวอย่าง วิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่น เพื่อเก็บสถิติและระบุถึงต้นตอของฝุ่น แล้วนำไปเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหา ทั้งในแง่ป้องกันการปล่อยมลพิษ และเอาผิดผู้ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน
- ตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน ออกคำแนะนำและคำสั่งให้แก้ไขการปล่อยมลพิษในกรณีที่โรงงานปล่อยออกมาเกินค่ามาตรฐาน หากไม่แก้ไขจะดำเนินการทางกฎหมายหรือประสานงานเพื่อเพิกถอนใบอนุญาต ติดตามข้อมูลการจัดการมลพิษอย่างต่อเนื่องและแสดงข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้
- พยากรณ์ แจ้งเตือน ป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยนำข้อมูลทั้งปรากฏการณ์ inversion ทิศทางลม จุดความร้อนจากการเผา ข้อมูลทางกายภาพของเมือง มาพัฒนารูปแบบการพยากรณ์ให้มีความแม่นยำเพื่อแจ้งเตือนประชาชนแบบเรียลไทม์ และจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นที่เหมาะสมให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง
- ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด โดยจะติดตั้ง 2 รูปแบบ คือ กทม.ติดตั้งเอง และเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมในการติดตั้งเซนเซอร์วัดฝุ่นแล้วส่งข้อมูลให้กทม. ก่อนนำมาประมวลผลและปรับเทียบให้มีความแม่นยำก่อนแสดงผลให้ประชาชนรับรู้
- พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ทั้งในพื้นที่เปิด ด้วยการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ที่ช่วยดักจับและกรองฝุ่น และพื้นที่ปิดด้วยการสนับสนุนการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีกลุ่มเปราะบางและประชาชนหนาแน่น เช่น ห้องเรียน โรงพยาบาล รถสาธารณะ
- ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone ด้วยการผลักดันให้ work from home หรือเหลื่อมเวลาการทำงานกับเอกชนในย่านธุรกิจ และหารือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะไซต์งานก่อสร้าง และธุรกิจขนส่งสินค้า ในการเลี่ยงเส้นทางรถบรรทุกใน Low Emission Zone หรือบริเวณที่มีมลพิษสูง
#ลดควันดำจากพาหนะ
ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนจากข้อมูลและการศึกษาต่างๆ ว่าต้นกำเนิด PM2.5 ในกรุงเทพมหานครเกิดจากมลพิษที่ปล่อยจากรถยนต์สันดาปหรือเครื่องยนต์ดีเซล เรื่องนี้จึงเป็นเป้าสำคัญของการแก้ PM2.5 เช่นเดียวกับที่นโยบายชุดนี้ให้ความสำคัญ
- ตรวจจับรถควันดำจากต้นตอ โดย กทม.จะร่วมมือกับตำรวจและกรมการขนส่งทางบก
- ลดฝุ่น ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการปรับปรุงเครื่องยนต์เก่า โดยให้ประชาชนเข้าถึงการปรับปรุงเครื่องยนต์ทั้งมอเตอร์ไซค์
และรถยนต์ดีเซลได้ง่าย และให้นักเรียนในศูนย์ฝึกอาชีพได้ทดลองปฏิบัติงานจริงด้วยการปรับปรุงรถของประชาชน - สนับสนุนให้เกิด ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า เช่น อนุญาตให้เอกชนติดตั้งสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ในพื้นที่หน่วยงานกทม. พิจารณาข้อบัญญัติควบคุมอาคารให้สถานที่ต่างๆ ต้องติดตั้งสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรี่ ผลักดันให้เกิดหลักสูตรดัดแปลงเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในสถาบันที่สอนหลักสูตรเกี่ยวกับยานยนต์ และให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ในราคาต้นทุน
- มีจุดจอดจักรยานคุณภาพ ปลอดภัย ทุกจุดเชื่อมต่อขนส่ง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้ง่ายโดยใช้จักรยานเป็นตัวเชื่อม และมีความมั่นใจในการใช้จักรยานเดินทาง สร้างย่านจักรยาน ถนนและซอยมีทางเดิน ทางปั่นที่สะดวก เพิ่มสะพานข้ามคลองขนาดเล็กเพื่อทลาย mega blog ของเมือง เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทาง
#จัดการขยะ
ขยะที่ถูกเผานอกระบบ เป็นตัวการสร้าง PM2.5 ในพื้นที่เปิด ยิ่งถ้าเกิดมีการลักลอบเผาหรือเกิดไฟไหม้ในบ่อขยะก็จะสร้างมลพิษมหาศาล ให้ผลเสียต่ออากาศและกลิ่นที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดการ PM2.5 ตั้งแต่ต้นตอ ซึ่งในนโยบายชุดนี้ก็มีแนวทางที่น่าสนใจ อาทิ
- เน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า และปลูกฝังค่านิยมการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบในเยาวชนและประชาชนทั่วไป
- สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยะขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ
- มีจุดทิ้งขยะถูกสุขอนามัย ไม่มีขยะตกค้าง เพื่อให้สภาพแวดล้อมที่สะอาดให้กับเมือง และไม่มีมลพิษจากขยะตกค้าง
- พัฒนาโมเดลรถจัดเก็บขยะขนาดเล็ก เพื่อลดปัญหาขยะตกค้างส่งกลิ่น และทำให้การจัดเก็บขยะของกทม. มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ดูแลสวัสดิการพนักงานเก็บและขนขยะ ทั้งในเรื่องอุปกรณ์ป้องกัน และอุปกรณ์การทำงานที่ได้มาตรฐาน ทันสมัย และเพียงพอ รวมถึงพิจารณาค่าตอบแทน สวัสดิการรักษาพยาบาล ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ แก่คนทำงานให้เหมาะสม
นโยบายที่เราเห็นจึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงแค่น่าเอาใจช่วย เพราะหลายๆ แนวทางนี้มีหลายส่วนที่เราสามารถพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ไปสู่เมืองที่มีอากาศที่ดีขึ้นได้ หรือหากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงในตอนนี้ การได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นหรือเพิ่มเติมข้อเสนอแนะ ก็ทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยที่ www.chadchart.com
ภาพ: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์