หมดยุคแล้วที่จะรอให้ความเปลี่ยนแปลงเดินเข้ามาหา ไม่ว่าจะเรื่องยิบย่อยอย่างเช่น ต้องการถังขยะเพิ่มในหมู่บ้าน หรือยิ่งใหญ่ระดับประเทศที่ต้องการให้มีการจัดการมลพิษทุกๆ ด้านแบบจริงจังไปอีกระดับ
การศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า ประชาชนอย่างเรานี่แหละที่มีหน้าที่ไม่แพ้รัฐบาล เพราะเราสามารถกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณะได้ แม้จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นวันนี้พรุ่งนี้ แต่การลงแรงของ active citizen จะออกผลวันหนึ่งอย่างแน่นอน
Active citizen คือใคร?
Active citizen คือคนที่สนับสนุนให้ชุมชน องค์กร ประเทศ สร้างคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ลงมือทำ ไม่โบ้ยว่าเป็นความผิดของคนนั้นคนนี้ แต่นำเอาความรู้ ทักษะ และความตื่นตัวมากระตุ้นความเปลี่ยนแปลง หาทางแก้ไขทั้งเชิงการเมืองและไม่การเมืองผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การสร้างแคมเปญ รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้าน เพื่อชี้แนะทางอ้อมว่า ประชาชนบางส่วนไม่พอใจนโยบายต่างๆ อย่างไร หรือแม้แต่การไปออกเสียงเลือกตั้ง การทำงานอาสาสมัครกับองค์กรการกุศลหรือองค์กรไม่แสวงผลกำไร ก็ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมของชาว active citizen เช่นกัน
มาลองเช็กกันหน่อยดีกว่าว่าคุณมีความเป็น active citizen อยู่ในตัวมากแค่ไหน
1. หมั่นหาความรู้ อัพเดตข่าวสารเสมอ โดยเฉพาะข่าวสารจากชุมชนใกล้ตัวและในประเทศ และการ follow โซเชียลมีเดียของนักการเมือง พรรค หรือผู้นำ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของนโยบายต่างๆ
2. ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ เราต่างรู้ดีว่าปัญหาโลกร้อนและมลพิษต่างๆ ที่เผชิญกันอยู่ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันนี่เอง แม้ว่าการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะรับมือกับปัญหาโลกร้อนไม่ได้แบบทันตาเห็น แต่ความสม่ำเสมอและความตั้งใจที่แต่ละคนมีร่วมกัน จะช่วยชะลอวิกฤตได้ วิธีที่ active citen จะทำได้ ก็อย่างเช่น ไม่ใช้พลาสติกถ้าไม่จำเป็นจริงๆ พยายามไม่ใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง แต่เลือกเป็นผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้
3. เริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพื่อทำให้คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้พัดลมมากกว่าเครื่องปรับอากาศ เลี่ยงการใช้เครื่องหอมปรับอากาศที่มีส่วนผสมของเอธิลีน ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แอมโมเนีย คลอรีน แต่หันมาใช้เครื่องหอมและอุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมออร์แกนิกแทน ปลูกต้นไม้ในรั้วบ้านหรืออพาร์ตเมนต์มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างอากาศสะอาด ใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น หรือถ้าจำเป็นต้องขับรถจริงๆ ก็พยายามทำให้การขับรถแต่ละครั้งคุ้มค่า เช่น ถ้าต้องขับรถไปซื้อของ ก็ซื้อมาในปริมาณเยอะหน่อย จะได้ไม่ต้องขับไปซื้ออีกบ่อยๆ
4. สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เช่น อุดหนุนร้านค้าหน้าปากซอยมากขึ้น บริโภคสินค้าที่มาจากชุมชนหรือผู้ค้ารายเล็กมากกว่าสินค้านำเข้า สนับสนุนธุรกิจรายย่อยมากกว่าธุรกิจผูกขาด เพราะเมื่อคนในชุมชนมีกินมีใช้ ทุกคนก็จะมีแรงไปให้ความสนใจในเรื่องอื่นๆ ต่อ
5. พูดคุยกับเพื่อนบ้านและคนในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจตัวเขาตัวเรา ได้รู้จักชุมชนตัวเองมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนไปในตัวด้วยว่าสิ่งที่เราและเพื่อนบ้านต้องการปรับปรุงให้ดีขึ้นมีอะไรบ้าง แต่ละคนเจอปัญหาอะไร ถือเป็นการหาแรงหนุนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางอ้อม และหาทางแก้ไขที่เหมาะกับลักษณะชุมชนของตัวเอง
6. ทำงานอาสาสมัครในเรื่องที่ตัวเองสนใจ เช่น ช่วยเหลือสัตว์พิการ ทำข้าวกล่องให้คนไร้บ้าน หรืออ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด งานอาสาสมัครไม่จำเป็นต้องเป็นงานลงแรงเสมอไป แต่เอาความถนัดมาใช้ให้ตรงกับเรื่องที่ชอบ เช่น อาสาเป็นแอดมินให้เพจรณรงค์เรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม หรือเพจที่ต้องการสนับสนุนการสวมเสื้อผ้าซ้ำๆ เพื่อลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่
7. พยายามตั้งคำถาม ชี้ชวนให้เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวเอะใจกับบางประเด็นที่ตัวเราเองคิดว่าทำให้ดีกว่านี้ได้ เช่น การจัดการขยะที่ได้ประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ อาจเป็นการตั้งคำถามผ่านการพูดคุย หรือตั้งประเด็นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง รวมถึงอาจแท็กหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโพสต์นั้นๆ เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวในปัญหานั้นๆ
8. เคารพสิทธิของคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา active citizen เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมที่จะได้เข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดีและมีอนาคตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องมลพิษอากาศ เรื่องตลกร้ายมีอยู่ว่า สถิติพบว่าชนชั้นกลางขึ้นไปที่มีการบริโภคมากกว่า หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตของเสียในอากาศ มักหาทางหนีปัญหานี้ได้ง่าย เช่น เลี่ยงไปใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำงานในห้องแอร์ หรือไม่ต้องรับผิดชอบต่อการสร้างมลพิษ แต่กลุ่มคนที่สร้างปัญหามลพิษน้อยกว่าอย่างคนใช้แรงงานกลับต้องเผชิญกับอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพโดยตรง active citizen จึงควรคำนึงถึงสิทธิที่ทุกคนควรได้สูดอากาศสะอาดอย่างเท่าเทียมผ่านการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
9. สนับสนุนนโยบายที่เราเห็นด้วย เรามักเห็นข้อเรียกร้องหรือนโยบายต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ที่ต้องการการลงชื่อผู้สนับสนุนร่วมด้วย เช่น นโยบายอากาศสะอาด เคมเปญถามลูกค้าร้านสะดวกซื้อก่อนแจกหลอด หรือสิทธิผ้าอนามัยฟรี ถ้าเป็นสิ่งที่เราก็คิดเห็นตรงกัน อย่าได้ลังเลที่จะลงชื่อสนับสนุน เพราะไม่แน่ว่าข้อเสนอนั้นๆ จะถูกส่งต่อไปยังฝ่ายที่มีอำนาจดำเนินการ และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในวันหนึ่ง
10. ออกแบบข้อเสนอหรือนโยบายที่เราอยากเห็น แน่ละว่าข้อนี้ต้องใช้ทั้งเวลาและลงแรงมากกว่าข้ออื่นๆ แต่การได้ลองคิดลองเขียนออกมา คือหนทางแรกที่จะพาเราไปหาทีมที่คิดตรงกัน และช่วยกันสร้างสังคมที่ตัวเราต้องการจริงๆ ขึ้นมาได้
จาก 10 ข้อที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของการเป็น active citizen เมื่อเช็กลิสต์ดูแล้วมองเห็นตัวเองอยู่ในนั้นกี่ข้อ แล้วบอกตัวเองได้ไหมว่า คุณมีความเป็น active citizen อยู่ในระดับไหน?
ที่มาข้อมูล:
1. tge.sze.hu/images/dokumentumok/K%C3%B6tetek%20%C3%B6sszes%20cikkel/2017.%20V.%20%C3%A9vfolyam%204.%20sz%C3%A1m%20(angol)/02-reisinger-2017-04.pdf
2. www.thecanadianencyclopedia.ca/en/article/active-citizenship#
3. www.citizenlab.co/blog/civic-engagement/10-easy-ways-to-be-a-more-engaged-citizen
4. uia-initiative.eu/en/news/involving-citizens-better-air-quality-measures-5-uia-cities-leading-way
5. www.aqi.in/blog/household-cleaning-products-indoor-air-pollution