ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังสนุกสนานกับชาเลนจ์ปลูกต้นไม้ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนที่ฝนดีและน่าจะเบาแรงกับการดูแลรดน้ำในช่วงประคบประหงมไปได้มาก เราเลยขอนำเรื่องของไม้มีค่า ต้นไม้ที่น่าปลูก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถึงกับเก่า กลับมาเล่ากันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เพราะนอกจากจะเป็นไม้ใหญ่ที่ช่วยกรองฝุ่น และดูดซับมลพิษได้ดี ยังเป็นไม้ที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ได้อีก เรียกได้ว่าปลูกต้นเดียวได้ประโยชน์สองต่อ หรือปลูกหลายๆ ต้น ก็ได้ประโยชน์อีกหลายเท่าตัว
ที่บอกว่าเรื่องไม้มีค่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในบ้านเรามีการออกเป็นกฎกระทรวงรับรองมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันธุรกิจ พ.ศ.2558 ที่บัญญัติให้หลักประกันได้แก่ ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีว่าด้วยสวนป่า สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
ซึ่งจากกฎกระทรวงนี้ ก็ทำให้ต้นไม้ใหญ่ที่ปลูก เป็นแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายเล็ก เพราะต้นไม้เหล่านี้สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการยื่นกู้กับสถาบันการเงินได้ ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
โดยในบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้แบ่งไม้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ จะเป็นไม้จำพวกที่ใช้ในการทำเครื่องเรือน อุตสาหกรรมกระดาษ ชิ้นไม้สับเพื่อทำเป็นพลังงาน
2. ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เป็นไม้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป การก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์
3. ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง เป็นเนื้อไม้ที่มีความทนทาน ตลาดทั้งในและต่างประเทศจะต้องการไม้ชนิดนี้มาก มักนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ การก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์เช่นกัน แต่จะมีระดับที่มูลค่าสูงกว่าอีกประเภท
4. ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก นิยมใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ชั้นสูง และเหมาะกับการปลูกเพื่ออนุรักษ์ เพราะเป็นไม้ที่อายุยืน คนที่ปลูกเพื่อสร้างมูลค่าจึงไม่ค่อยนิยมเพราะเติบโตช้า แต่ถ้าจะปลูกเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว เรื่องการโตช้าอายุยืนก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ
ส่วนปลูกแล้วเมื่อไรถึงจะสามารถประเมินเป็นหลักทรัพย์ได้นั้น ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ร่วมกันให้ขอบเขต ข้อกำหนด ขั้นตอน และหลักการในการประเมินราคาต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์เอาไว้เป็นเบื้องต้นว่า
ต้องเป็นต้นไม้ที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป มีลำต้นตรง 2 เมตรขึ้นไป มีเส้นรอบวงต้นไม่ต่ำกว่า 3 เซนติเมตร เป็นไม้ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง และการวัดมูลค่าจะต้องมีกรรมการและสมาชิกธนาคารอย่างน้อย 3 คนร่วมกันประเมิน ซึ่งจะมีการเปรียบเทียบเส้นรอบวงที่วัดได้กับตารางปริมาณและราคาเนื้อไม้ซึ่งมีเกณฑ์ประเมินอยู่ และจะปล่อยกู้ให้ 30% ของราคาประเมินต้นไม้ชนิดนั้นๆ
และจากการเปิดเผยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถึงสถิติการจดทะเบียนการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกัน จากข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ระบุว่าตอนนี้มีประชาชนนำต้นไม้มาเป็นหลักประกันในสถาบันการเงิน ธนาคารกรุงไทย และธ.ก.ส. แล้วประมาณ 1.46 แสนต้น คิดเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้กว่า 137 ล้านบาท
นอกจากปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่นและซับมลพิษแล้ว การมีต้นไม้ไว้เป็นหลังพิงในฐานะหลักทรัพย์ก็ยิ่งทำให้การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องต้องลงมือซะทันที แต่จะปลูกต้นอะไรถึงจะได้มูลค่า เรามีรายชื่อมาฝากกันทั้ง 58 ชนิด ตามลิสต์นี้
สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ
ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด ไม้สกุลจำปี-จำปา แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน มะขาม
บางชนิดมีต้นพันธุ์ขายในร้านขายต้นไม้ และบางชนิดก็สามารถเข้าไปขอกล้าพันธุ์ได้ฟรีเลยที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ ที่ไหนใกล้แนะนำให้ตรงไปขอที่นั่น จากประสบการณ์ที่เราเคยไปขอมาแล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่ยินดีมากๆ ที่จะให้คำแนะนำและให้กล้าไม้ไปปลูกต่อ
ที่มาข้อมูล:
1. forestinfo.forest.go.th/pfd/download/dl118.pdf
2. www.lumpsum.in.th/knowledge/read/58-species-of-trees?s=07&fbclid=IwAR02yU9XYXV5Ursk0o6OPOW6is1JxHg3jwiCwbtvJZ9lf6mvln7vUUks3ls
3. www.thansettakij.com/economy/530286