เป็นอีกเรื่องดีๆ จากโต๊ะหารือปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เราขอนำมาบอกต่อ
อ้างอิงจากการประชุมความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร นำโดยผู้ว่าฯ กทม. กับโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เรามีข้อสรุป 4 เรื่องหลัก และ 2 องค์ประกอบสำคัญ ที่กทม.พร้อมลงมือทำ เพื่อให้เรื่องขมุกขมัวท่ามกลางฝุ่นควัน เดินทางเข้าใกล้จุดเปลี่ยนในเร็ววันขึ้น
โดยเรื่องหลักๆ ในการจัดการปัญหาฝุ่น 4 ด้าน ที่กทม. กำลังดำเนินการก็คือ
1. กำจัดต้นตอของ PM2.5
กทม. มีการตั้งนักสืบฝุ่น PM2.5 ผ่านโครงการนักสืบฝุ่น โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการวิเคราะห์ต้นกำเนิดของฝุ่นในกรุงเทพฯ ว่ามีที่มาจากแหล่งไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้กทม.มีข้อมูลในระยะยาว และทำงานแก้ปัญหาในเชิงรุก
อย่างการกำจัดต้นตอจากรถยนต์ที่ใช้ระบบเชื้อเพลิงดีเซล ที่มีการเผาไหม้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนรถยนต์ระบบสันดาปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้เพราะว่าในกรุงเทพฯ นั้นมีรถเก่าใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่การซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็อาจจะเป็นภาระทางค่าใช้จ่าย การได้โรงเรียนฝึกอาชีพในสังกัดกรุงเทพมหานคร มาเข้าร่วมและให้ความรู้ในการเปลี่ยนรถสันดาปเป็นรถไฟฟ้า จะเป็นแนวทางที่ช่วยได้
2. บรรเทาเหตุที่เกิด
ลดปริมาณฝุ่น ทำให้จุดที่มีค่า PM2.5 สูง ลดต่ำลงให้ได้ เช่น การกำหนดพื้นที่เขตมลพิษต่ำ จำกัดการใช้รถยนต์ สนับสนุนให้คนหันมาใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น ปลูกต้นไม้ล้านต้นตามนโยบายที่ได้นำเสนอไว้ รวมถึงการไปดูต้นตอโรงงานที่ปล่อยควันพิษ ซึ่งตอนนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้มีมาตรการออกมาแล้วว่า โรงงานต้องมีการติดตามมลพิษที่ปล่อยจากปล่องควัน และข้อมูลนี้จะถูกนำมาเปิดเผยให้มากขึ้น
3. ป้องกัน
ให้ประชาชนเข้าถึงการป้องกันตัวเอง ด้วยการแจกอุปกรณ์ป้องกันเพื่อช่วยบรรเทาฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องกรองอากาศ ให้กับกลุ่มเปราะบาง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ
4. คาดการณ์และแจ้งเหตุ
มีเครือข่ายช่วยติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นให้เยอะขึ้น ปัจจุบัน กทม.มีเครื่องวัดอยู่ 50 จุด จึงจะต้องมีการร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนหรือมหาวิทยาลัย ในการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1,000 จุด และทำให้การพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นแม่นยำขึ้น พร้อมนำเสนอแบบเรียลไทม์ ผ่านบอร์ดแสดงข้อมูลให้ประชาชนทราบตามจุดต่างๆ เช่น โรงเรียน หรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และป้องกันตนเองได้
นอกจากเรื่องหลักทั้ง 4 ด้าน ชัชชาติ สุทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ให้ความเห็นอีกว่า การจะแก้ปัญหา PM2.5 จะต้องมีอีก 2 องค์ประกอบหลัก คือต้องมี ‘Hard Power’ หมายถึงกฎหมายต้องเข้มข้น เช่น การตรวจจับควันดำ การตรวจฝุ่นในไซต์งานก่อสร้าง และมี ‘Soft Power’ ในการเปิดเผยข้อมูลปริมาณฝุ่น หรือ ‘Open Data’ ที่อาจจะมาในรูปแบบของแพลตฟอร์ม แล้วข้อมูลที่โปร่งใสจะทำให้เกิดความร่วมมือ เป็นการใช้พลังของประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบังคับให้ลดการปล่อยฝุ่น
โดยยกตัวอย่างประเทศจีนที่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็น open data ว่าบริเวณไหนปล่อยฝุ่นสูง พลังของประชาชนจะมีส่วนบังคับให้คนลดการปล่อยลง เรียกได้ว่าเป็นมาตรการทางการตลาดสังคม และมาตรการทางสังคม ซึ่งได้ผลไม่น้อยกว่าการใช้ Hard Power เลย
พลังของประชาชน จึงเป็นหนึ่งพลังที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน แม้ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ จะเป็นฝุ่นที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงมีนาคม แต่ผลร้ายจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตหากฝุ่นที่มองไม่เห็นนี้เข้าไปฝังตัวอยู่ในปอดของเรา
ขอบคุณรูปภาพ:
www.igreenstory.co