ในโลกที่ทรัพยากรมีจำกัด ทว่าความต้องการใช้กลับมีอย่างไม่จำกัด ทั้งยังมีแนวโน้มที่ความต้องการนั้นจะมากขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กระทั่งเกิดโจทย์ข้อใหญ่ว่าการจัดการทรัพยากรควรดำเนินไปในทิศทางไหนในบริบทดังกล่าว โดยเฉพาะในสภาวะที่โลกกำลังปั่นป่วนจากวิกฤติโรคระบาด สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ รวมถึงปมความขัดแย้งระหว่างประเทศที่กระทบต่อสายพานการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาจึงเกิดรูปแบบเศรษฐกิจทางเลือกขึ้น เพื่อจัดการทรัพยากรในบริบทของยุคสมัย หนึ่งในนั้นคือการทำธุรกิจแบบ Sharing Economy หรือ ‘การทำธุรกิจแบบแบ่งปัน’
ใจความสำคัญของธุรกิจรูปแบบนี้คือ การจับคู่ทรัพยากรที่มีมากเกินความจำเป็น เข้ากับผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้ทรัพยากรดังกล่าว อย่างที่เราคุ้นกันดีก็เช่น Air bnb แพลตฟอร์มช่วยจับคู่ห้องว่างหรือบ้านพักที่เจ้าของไม่ได้ใช้งาน เข้ากับผู้ต้องการพักอาศัยทั้งแบบชั่วคราวไม่กี่คืน และแบบเช่าระยะยาวสำหรับผู้ต้องการพำนักนานๆ แต่ไม่ต้องทำสัญญาผูกมัด
การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดเด่นใน 2 มิติ คือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะทรัพยากรส่วนเกินซึ่งคือโจทย์ที่นักเศรษฐศาสตร์หาทางบริหารจัดการกันอยู่ตลอดเวลา และการลดอัตราเร่งของการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปอย่างถ่านหินและน้ำมัน ทั้งยังช่วยลดการปล่อยมลภาวะลงได้ในอีกทาง
อีกตัวอย่างที่สะท้อนการจัดการทรัพยากรที่เชื่อมโยงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ชัด คือ บรรดาแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงยานพาหนะเข้ากับผู้คน ซึ่งช่วยลดความถี่ของการเดินทางและลดปริมาณการใช้ยานพาหนะลงได้อย่างมีนัยะสำคัญ โดยเฉพาะในเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจที่ระบบขนส่งมวลชนยังไม่พัฒนาทั่วถึง แพลตฟอร์มการคมนาคมอย่าง Grab หรือ Uber เข้ามาตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสะดวกในการเดินทาง และช่วยลดมลพิษจากควันท่อไอเสียที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศ ที่กำลังทวีความรุนแรงในเมืองใหญ่ทั่วโลก ณ ปัจจุบัน
ตัวอย่างสุดท้ายของโมเดล Sharing Economy ที่กำลังเฟื่องฟูในเมืองใหญ่ คือการแบ่งเช่าที่ดินสำหรับการสร้างอาหาร หรือ Land Sharing ที่ช่วยแก้ปัญหาคนเมืองไม่มีที่ดินเพียงพอสำหรับการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติที่ภาวะขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นฉับพลันในหลายสังคม
โมเดลจัดสรรปันที่ดินจึงกลายมาเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง อาทิ การปล่อยเช่าที่ดินของเอกชนหรือที่ดินส่วนบุคคลที่ไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อปลูกผักสวนครัว พร้อมบริการดูแลผักในแปลงให้ตลอดระยะเวลาการเช่า ซึ่งตอบสนองทั้งการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสนองต่อความต้องการพัฒนาระบบอาหารของเมืองในยุคปัจจุบัน
กว่านั้นในทางอ้อม ยังเป็นการลดการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารลงได้ด้วยมือของเราทุกคน
ที่มาข้อมูล:
1. www.eseibusinessschool.com/what-makes-the-sharing-economy-so-revolutionary
2. www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/SharingEconomy_V8.pdf
3. www.forbes.com/sites/bernardmarr/2016/10/21/the-sharing-economy-what-it-is-examples-and-how-big-data-platforms-and-algorithms-fuel/?sh=55b083b17c5a